วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565

Review: This is Not a Business Expense! (2019)

 This is Not a Business Expense! (2019) ยอดนี้เบิกไม่ได้ค่ะ!

#ปีนรั้วรีวิว #Drama Director: Satoru Nakajima, Yoichi Matsunaga
      เรื่องราวป่วน ๆ ของเหล่าพนักงานในบริษัทผลิตสบู่ชื่อดัง Ten Ten Corporation ที่ก่อตั้งมาอย่างยาวนาน โดยมีจุดศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ ซานาโกะ โมริวากะ (Mikako Tabe) สาวพนักงานฝ่ายบัญชีที่ทำงานละเอียดเสียจนพนักงานแผนกอื่น ต่างกลัวผลลัพธ์ในเครื่องคิดเลขของเธอ เมื่อนำใบเสร็จไปขอเบิกค่าใช้จ่ายแล้วได้คำตอบกลับมาว่า “ยอดนี้เบิกไม่ได้ค่ะ” ซานาโกะ และเพื่อนร่วมงานในแผนกบัญชี จึงมักถูกมองอย่างแปลกแยกจากคนอื่นในบริษัท

และแล้วใบเสร็จเจ้าปัญหาก็โผล่มาจนได้ เมื่อ ไทโย ยามาดะ (Daiki Shigeoka) หนุ่มฝ่ายขายที่มักนำใบเสร็จมาเบิกเงินอย่างผิดปรกติ เมื่อเขาออกไปพบกับ โซโนซากิ ดีไซเนอร์ที่ทำงานออกแบบโชว์รูมให้กับบริษัท ซานาโกะ ที่ถือคติประจำใจว่า “อย่าไล่ตามกระต่าย” (ประมาณว่าอย่างไล่ตามเรื่องน่าสงสัยนั่นแหละ) แต่ไม่เคยทำได้อย่างที่ใจคิดสักครั้ง เธอตัดสินใจตามสืบพนักงายฝ่ายขายอย่าง ยามาดะ จนได้พบกับความจริงอีกด้าน ที่มันอาจจะสวนทางกับนิยามของคำว่า “ยอดนี้เบิกไม่ได้ค่ะ” ของเธอ
      หลังจากดูจบแล้ว This is Not a Business Expense! (2019) ยอดนี้เบิกไม่ได้ค่ะ! เรื่องนี้ ถือเป็นซีรี่ส์ที่มีเรื่องราว เหมาะที่คนทำงานกินเงินเดือนจะดูให้จบสักครั้ง ตลอด 10 ตอนของซีรี่ส์นำเสนอแง่มุมต่าง ๆ ออกมาได้ดี ไม่ว่าจะเรื่องของการทำงานร่วมกันในฝ่ายเดียวกัน การประสานงานของฝ่ายต่าง ๆ ระบบการทำงาน รวมทั้งเรื่องของความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

ซีรี่ส์สร้างจากนิยาย "Kore wa Keihi de Ochimasen!: Keiribu no Moriwaka-san" ของ ยูโกะ อาโอกิ (Yuko Aoki) ผมไม่เคยอ่านฉบับนิยายเลยไม่รู้ว่าใช้วิธีไหนในการเล่าเรื่อง ส่วนฉบับซีรี่ส์นี้แม้จะเล่าเนื้อหาต่อเนื่องตลอด 10 ตอน แต่ว่าตลอด 10 ตอนก็เล่นในประเด็นแยกย่อยแตกต่างกันไป ส่วนตัวชอบวิธีการเล่าแบบนี้นะ ปมประเด็นที่เล่ามันจบในตอน แต่เส้นเรื่องหลักชีวิตของตัวละครก็ยังดำเนินอยู่ เวลาดูเลยไม่ต้องมาตามลุ้นบทสรุปเอาในตอนถัดไป

หากคนที่ยังไม่ได้ดูถามว่าคาแรคเตอร์ตัวละคร ซานาโกะ เป็นอย่างไร คงบอกได้ว่าคล้ายกับคาแรคเตอร์ ซาวาโกะ คุโรนุมะ ใน From Me to You (2010) ฝากใจไปถึงเธอ ที่ มิคาโกะ ทาเบะ แสดงนั่นแหละ ที่พูดน้อยเก็บตัวเข้ากับคนไม่เก่ง เพียงแต่ในเรื่องนี้บุคลิกจะดูจริงจังกับงานเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้เป็นสาวน้อยขี้อายแบบซาวาโกะ

แต่ละตอนที่ผ่านไปของซีรี่ส์สะท้อนแง่มุมของการทำงานร่วมกันในองค์กร ที่ต่างฝ่ายก็ต่างมีความรับผิดชอบในแบบตัวเอง ช่วงเริ่มต้นของซีรีส์ฝ่ายขายก็มักจะขิงใส่ฝ่ายบัญชีว่า พวกเขานี่แหละที่มีความสำคัญเพราะเป็นฝ่ายหาเงินเข้าบริษัท ก่อนที่ซีรีส์จะสะท้อนให้เห็นว่าแผนกอื่น ๆ กระทั่งพนักงานชั่วคราวเอง ต่างก็มีหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อองค์กรในแบบของพวกเขาเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นซีรีส์ยังนำเสนอในแง่มุมที่ว่า บางครั้งค่าใช้จ่ายที่อาจมองว่ามันเกินความจำเป็น จริงอยู่มันอาจไม่มีผลต่อผลลัพธ์ที่องค์กรจะได้รับโดยตรง แต่หากมันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มันก็คุ้มค่าที่จะจ่าย

เนื้อหาในบางตอนผมสังเกตุได้ว่า ซีรี่ส์มีแนวความคิดไปในทางอนุรักษ์นิยม นอกจากเรื่องที่ Ten Ten Corporation เป็นองค์กรเก่าแก่แล้ว วิธีการทำงานบางอย่างก็ชัดเจน อย่างการให้เหตุผลถึงการไม่เปลี่ยนนโยบาย ลดการใช้กระดาษ (Paperless) หรือความพยายามในการไม่ซื้อเครื่องชงกาแฟอัตโนมัติ ซีรีส์แฝงถึงข้อดีความจำเป็นและเหตุผลลงไปด้วย การที่พวกเขายังรักษากลุ่มลูกค้าดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นบุกเบิก แม้พวกเขาจะไม่ได้สร้างกำไรให้กับบริษัทแล้วก็ตาม

แล้วในช่วงท้ายเรื่องซีรีส์ยังทำให้แนวคิดอนุรักษ์นิยมได้ท้าทายกับฝ่ายหัวก้าวหน้า เมื่อบริษัทได้แต่งตั้ง คาคุมะ ลูกชายของประธานบริษัท ที่เพิ่งจบจากต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้อำนวยการ เขาพยายามเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง ซึ่งมันอาจส่งผลกระทบต่อพนักงานประจำ ซีรีส์พยายามสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของ ความภักดีต่อองค์กร (Loyalty) เพราะพนักงานที่ทำงานกับบริษัทมายาวนาน พวกเขาจะมีความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร เข้าใจเนื้องานและเพื่อนร่วมงาน ต่างจากพนักงานสัญญาจ้างที่ไม่ได้มองความมั่นคงในระยะยาว

ถึงอย่างนั้นซีรีส์ก็ไม่ขนาดที่ว่า ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ในบางตอนก็ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น อย่างตอนที่เป็นเรื่องราวของ โทเมดะ ทัตสึฮิโกะ ชายสูงวัยที่มีหน้าที่ผสมสารเคมีเพื่อผลิตสบู่ เขาใช้ความสามารถพิเศษที่มีสร้างสรรค์มันมาตลอดหลายปี แต่ในตอนนี้อยู่ดี ๆ เขากลับไม่สามารถทำมันได้เช่นเดิม เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย ทุกอย่างมันก็ย่อมต้องเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา หากจะให้สรุปประเด็นของซีรี่ส์ออกมา คงพอจะบอกได้ว่า

องค์กรที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคน หลายคน หลายฝ่าย ประสานงานกันเพื่อขับเคลื่อนองค์กร อย่างไรเสียมันก็คงไม่พ้นที่จะมีวัฒนธรรมดั่งเดิมขององค์กร เพียงแต่ว่าจะสวนกระแสโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันก็คงไม่ได้ สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ความสามารถของคนนี่แหละ ที่จะปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน เพราะหากทำไม่ได้ก็คงเห็นกันมาหลายตัวอย่างแล้วว่า สุดท้ายแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร

สรุปแล้ว This is Not a Business Expense! (2019) ยอดนี้เบิกไม่ได้ค่ะ! เขียนซะซีเรียสเลย ฮ่าฮ่า เอาจริงเนื้อหาไม่ได้เครียดขนาดนั้นหรอก มีมุมน่ารัก มีความโรแมนติก จะว่าไปมีพล็อตสืบสวนปนนิด ๆ ด้วยซ้ำ เมื่อ ซานาโกะ และเพื่อน ๆ ในแผนกต้องคอยหาเบาะแส ใบเสร็จที่มียอดเบิกน่าสงสัย เพื่อหาบทสรุปให้ได้ว่า “ยอดนี้จะเบิกได้หรือไม่”
 
ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีส์: This is Not a Business Expense! (2019)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: All of Us Are Dead (2022)

 All of Us Are Dead (2022) มัธยมซอมบี้ Screenwriter:  Chun Sung Il Director:  Lee Jae Gyoo       ซีรีส์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธ...