วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2565

Review: One Day, You Will Reach the Sea (2022)

 One Day, You Will Reach the Sea (2022) สักวันเราจะพบกันที่ท้องทะเล

#Drama Director: Ryutaro Nakagawa
     มานะ โคทานิ (ยูกิโนะ คิชิอิ) สาวหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหาร ที่ไม่สามารถก้าวข้ามการตายของเพื่อนรักได้ เธอนัดพบกับ อัตสึชิ โทโนะ (โยสึเกะ สุกิโนะ) แฟนของเพื่อนสนิทสมัยเรียนมหาลัยของเธออย่าง สุมิเระ อัตสิกิ (มินามิ ฮามาเบะ) เมื่อ โทโนะ อยากรู้ว่า มานะ อยากได้ข้าวของอะไรของ สุมิเระ เก็บไว้บ้างหรือเปล่า เพราะเขาตัดสินใจจะย้ายออกจากห้องเช่า แต่ก็ไม่อยากทิ้งข้าวของของคนรักที่ตายจากไปแล้ว เมื่อต่างฝ่ายต่างหาคำตอบไม่ได้ ทั้งสองคนก็เลยตัดสินใจขนของทั้งหมดกลับไปยังบ้านเกิดของ สุมิเระ เพื่อให้แม่ของเธอเป็นคนตัดสินใจ
เปิดเผยเนื้อหา
***
**

      ผมขอรีวิวแบบเปิดเผยเนื้อหาก็แล้วกันนะครับ ด้วยความที่หนังมันสื่อสารผ่านความรู้สึกของตัวละคร ที่ต้องมีการตีความความรู้สึกหรือการกระทำนั้น ต้องมีการยกฉากนั้น ๆ ขึ้นมาพูดถึงเพื่อขยายความ คงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่เปิดเผยเนื้อหาครับ เป็นหนังที่ผมของแบ่งเป็นสองส่วนในสิ่งที่หนังนำเสนอ ส่วนแรกเป็นการที่หนังพูดถึงความสูญเสียและผู้คนที่สูญเสียคนรักหรือคนในครอบครัวจากสึนามิ ความที่มันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แน่นอนว่าผู้คนต่างไม่ทันตั้งรับกับความสูญเสีย ที่มากกว่านั้นบางคนยังกลายเป็นผู้สูญหายไม่พบแม้แต่ร่างด้วยซ้ำ คนที่อยู่ข้างหลังที่ไม่ได้ตั้งรับความสูญเสีย บางคนจึงทำใจยอมรับหรือก้าวข้ามมันไปไม่ได้ง่าย ๆ

เหมือนที่ มานะ ไม่สามารถก้าวข้ามความตายของ สุมิเระ ได้ เธอแปลกใจกับท่าทีของ โทโนะ แฟนของเพื่อนรัก ที่อยากย้ายออกจากห้องซึ่งเคยอาศัยอยู่ด้วยกันแล้วไปเริ่มชีวิตใหม่ ท่าทีและคำพูดของแม่ สุมิเระ ที่ความสัมพันธ์กับลูกสาวไม่ดีนักครั้งยังมีชีวิต แต่กลับบอกว่าความเป็นแม่ลูกกลับมาแม้ลูกสาวจะไม่อยู่แล้ว แถม โทโนะ ยังบอกว่าเข้าใจและรู้สึกใกล้กับคนรักมากว่าแต่ก่อน ซึ่งคำพูดอะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ มานะ ไม่เข้าใจมันเอาเสียเลย ทำไมทุกคนถึงก้าวข้ามความสูญเสียได้ แล้วทำไมมีเพียงเธอที่ไม่สามารถทำมัน แถมสุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครตัดสินใจทิ้งข้าวของต่างหน้า สุมิเระ สักคน

พอดูมาถึงตรงนี้มันทำให้ผมนึกถึงหนังขึ้นมาสองเรื่อง เรื่องแรกก็คือ Lying to Mom (2018) ที่พูดถึงการรับมือความสูญเสียที่แต่ละคนมีวิธีแตกต่างกัน เหมือนคำถามที่เกิดขึ้นในใจของ มานะ ในสิ่งที่ โทโนะ กับแม่ของ สุมิเระ พูดและแสดงออกมา ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อมีชีวิตต่อไป เรื่องที่สองที่ผมนึกถึงก็คือ Amor (2015) หนังเกาหลีที่พูดถึงผู้ชาย ซึ่งทิ้งข้าวของของคนรักที่ตายไปแล้ว เพื่อทำใจยอมรับความสูญเสียให้ได้ แต่กลับมีสิ่งเดียวของคนรักที่เขาไม่สามารถทิ้งได้ก็คือ ตัวเขาเอง ซึ่งมันแตกต่างจากเรื่องนี้ที่เหมือนบางคนจะก้าวข้ามได้ แต่กลับไม่มีใครตัดสินใจเก็บหรือทิ้งกล้องวิดีโอ ซึ่งเป็นของต่างหน้า สุมิเระ สักคน ได้แต่โยนกันไปมาให้อีกฝ่าย ซึ่งสุดท้ายมันก็มาตกอยู่กับ มานะ จนได้

หลังจากนั้นคนดูอย่างเราจึงได้รู้ว่า ที่คนดูเห็นความเป็นไปของ สุมิเระ ที่ผ่านมา เป็นภาพจากมุมมองของคนอื่นที่มองเห็นเธอ หนังสลับมาเล่าผ่านมุมมองของ สุมิเระ ในฉากเดียวกันกับช่วงแรก เราจะได้เห็นรีแอคในอีกมุมมองของเธอ สิ่งที่เธอเป็น เธอเจอมา มันมีอะไรบ้าง สุมิเระ ใช่คนที่อัธยาศัยดีเข้ากับคนอื่นง่ายจริงหรือเปล่า หรือเธอฝืนเพื่อเป็นสิ่งนั้น แต่ที่จริงแล้วโดดเดี่ยวไม่ได้มีใครที่รู้จักเธอดีสักคน เมื่อกับแม่ก็มีปัญหาไม่เข้าใจกัน เพื่อนที่คิดว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยก็ไม่ได้เข้าใจกัน เหมือนกับที่ มานะ บอกว่าอยากเป็นเหมือน สุมิเระ ที่เข้ากับทุกคนได้ ทั้งที่จริงแล้ว สุมิเระ กำลังฝืนเป็นสิ่งนั้นอยู่ เหมือนกับที่ สุมิเระ ประหม่าแล้วใช้จังหวะที่ มานะ กำลังคุยกับรุ่นพี่แล้วเข้าไปตีสนิทกับทุกคน เธอปรับตัวเข้ากับที่ทำงานไม่ได้ จนได้ย้ายออกจากบ้านมาอยู่กับ มานะ ซึ่งมีฉากต่อเนื่องกันที่ขยายความส่วนนี้ ในตอนที่ สุมิเระ หยิบเอาเสื้อผ้าของ มานะ มาใส่ แล้วเขียนโน็ตบอกว่า “ฉันไม่ค่อยชอบเสื้อของตัวเอง ขอยืมของเธอหน่อยนะ” ซึ่งเป็นฉากที่น่าจะสะท้อนว่า สุมิเระ ไม่ได้ชอบสิ่งที่เป็นหรือเปลือกที่ห่อหุ้มตัวเธออยู่เลย

แล้วหากยกเอาเรื่องของตัวละคร ฟุมิโนริ นาราฮาระ ผู้จัดการร้านอาหารที่ มานะ ทำงานอยู่ มาอธิบายสถานการณ์ของ สุมิเระ ภาพมันก็จะชัดขึ้นมาอีกนิดว่า ทั้งสองตัวละครอยู่ในสถานกาณ์คล้ายกัน ต่างกำลังฝืนทำในสิ่งที่ไม่เป็นตัวเอง

แม้คนดูอย่างเราจะไม่ได้เห็นภาพอะไรมากมายจากภายในกล้องของ สุมิเระ ซึ่งดูแล้วหนังก็ไม่ได้ตั้งใจจะโฟกัสไปที่ภายในกล้องวิดีโอนั้น แต่คงอยากสะท้อนถึงว่า ทำไม สุมิเระ ถึงต้องคอยถือกล้องถ่ายอะไรอยู่เรื่อย หากหยิบเอาคำพูดของคนที่สูญเสียคนรักจากสึนามิ ที่บอกว่า “อาจเพราะทำให้ใจได้พักและก็อยากให้มันคงอยู่ตลอดไป” มาอธิบาย คงจะบอกได้ว่า สุมิเระ ที่ได้อยู่หลังกล้อง เป็น สุมิเระ ที่ได้พักจากการฝืนในสิ่งที่เป็น เมื่อเธอได้มองโลกผ่านกล้องในแบบที่มันเป็น ได้พูดคุย ได้ถาม ในสิ่งที่คนอื่นคิดและเป็น แล้วเธอก็ได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น เมื่อถ่ายตัวเองต่อหน้ากล้อง ไม่ต้องหลบซ้อนมันเหมือนตอนอยู่กับคนอื่น

เรื่องนี้เลยเป็นหนังที่คนดูอย่างเราต้องสังเกตจดจำรีแอคของตัวละคร เพื่อทำความเข้าใจความหมายของแต่ละฉาก อาจไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นแนวราโชมอน ที่เล่าความจริงต่างมุมมอง แต่ก็เป็นหนังที่สื่อถึงความรู้สึกของตัวละครในสถานการณ์เดียวกันที่แตกต่าง พอดูจบแล้วผมก็มานั่งนึกเหมือนกันนะครับ ว่าตกลงแล้ว “เรารู้จักกันดีพอหรือเปล่า“ เพราะความรู้สึกของใคร ก็มีแต่คนนั้นที่รู้ เหมือนที่ มานะ กับ โทโนะ ที่เป็นทั้งเพื่อนสนิทและแฟน ต่างบอกว่าไม่มีใครรู้ความคิดของ สุมิเระ หรอก นอกจากตัว สุมิเระ เอง ที่สุดแล้วพวกเขาก็ได้แค่คาดเดากันไปเองทั้งนั้น

ในช่วงท้ายหากจะให้สรุปถึงหนังเรื่องนี้ผมคงจะบอกว่า ไม่ได้เป็นหนังสายบันเทิง แต่เป็นหนังดราม่าสื่อสารแบบนามธรรมต้องตีความความรู้สึกของตัวละคร ที่ไม่เพียงแค่ซับซ้อนในการแสดงออก แต่ยังซับซ้อนในแง่ของวิธีการเล่าเรื่อง ที่นำเสนอสถานการณ์เดียวกันแต่ต่างความรู้สึกของตัวละคร มันก็เลยต้องทั้งจดจำให้ได้ก่อนถึงจะเข้าใจความหมายที่สื่อสาร แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ว่ายากจนต้องตีลังกาดู เพราะเอาจริงหนังดราม่าญี่ปุ่นก็มาในทำนองนี้ตลอดอยู่แล้ว ส่วนตัวผมก็ไม่ถึงกับเข้าใจทั้งหมด ที่เข้าใจก็ยังไม่รู้ว่าถูก 100% หรือเปล่า แต่จากสิ่งที่เห็นในหนังสองชั่วโมงเรื่องนี้ ผมก็กลั่นออกมาได้ประมาณนี้แหละครับ

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์: One Day, You Will Reach the Sea (2022)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: All of Us Are Dead (2022)

 All of Us Are Dead (2022) มัธยมซอมบี้ Screenwriter:  Chun Sung Il Director:  Lee Jae Gyoo       ซีรีส์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธ...