Lying to Mom (2018) โกหกแม่กันเถอะ
#ปีนรั้วรีวิว #Drama Director: Katsumi Nojiri หนังเล่าเรื่องราวของ โคอิจิ (เรียว คาเสะ) ลูกชายคนโตของบ้าน ซูซุกิ เขาจมอยู่กับความทุกข์ใจและกลายเป็นฮิคิโคโมริ ไม่ยอมก้าวเท้าออกจากห้องมานานหลายปี แม้คนในครอบครัวจะพยายามให้ความช่วยเหลือ แต่เหมือนว่ามันจะไม่ได้ผล จนในที่สุด โคอิจิ ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลง ซึ่งคนที่พบศพคนแรกไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ยูโกะ (ฮิเดโกะ ฮาระ) แม่ที่คอยให้กำลังใจลูกชายคนนี้เสมอมา ทันทีที่เห็นลูกชายผูกคอตัวเองกับตู้เสื้อผ้า เธอรีบวิ่งลงมาในครัวเพื่อหยิบมีดในทันที แต่ภาพที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ยูโกะ กลับนอนนิ่งอยู่ตรงหน้าร่างของลูกชาย และข้อมือเต็มไปด้วยรอยกรีดฟูมิ (ไม คิเรียว) ลูกสาวคนเล็กที่กลับมาทันเห็นเหตุการณ์ สามารถขอความช่วยเหลือจนรักษาชีวิตแม่เอาไว้ได้ ยูโกะ ใช้เวลาในการรักษาตัวอยู่นาน ในขณะที่สามีอย่าง ยูกิโอะ (อิตโตคุ คิชิเบะ) และลูกสาวคนเล็ก ฟูมิ ต่างพยายามหาทางรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าหลังจากที่ ยูโกะ ฟื้นรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา เธอกลับจำเหตุการที่เกิดขึ้นไม่ได้และไม่รู้ว่าลูกชายได้ตายไปแล้ว ฟูมิ ที่กลัวว่าแม่จะทำร้ายตัวเองอีกครั้งหากบอกความจริงออกไป จึงตัดสินใจร่วมกับคนอื่นในครอบครัวบอกกับแม่ว่า โคอิจิ พี่ชายนั้น สามารถก้าวออกจากห้องมาเผชิญโลกภายนอกได้แล้ว และตอนนี้เขาได้เดินทางไปทำงานยังประเทศอาร์เจนติน่ากับ ฮิโรชิ (นาโอะ โอโมริ) น้าชายที่เคยชวนไปอยู่ด้วยกัน ยูโกะ ที่ได้ยินอย่างนั้นจึงรู้สึกมีกำลังใจที่ลูกชายกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง เพียงแต่ว่าคำโกหกนี้มันจะช่วยปิดบังความจริงอันน่าเศร้าไปได้นานแค่ไหนกัน
หนังดราม่าจากญี่ปุ่นพูดถึงการรับมือความโศกเศร้าการสูญเสียคนในครอบครัว ในที่นี้หนังไม่เพียงพูดถึงความเข้มแข็งของสภาพจิตใจเท่านั้น แต่ยังพูดถึงวิธีการที่ใช้ในการรับมือของแต่ละคนยังอาจแตกต่างกันอีกด้วย ส่วนความรู้สึกของผู้ชมในขณะดูหนังเรื่องนี้ ส่วนตัวผมว่าหนังให้หลากหายความรู้สึกมาก เมื่อการนำเสนอเหมือนจะดูเบา ๆ บางทีก็มีอารมณ์ขันแทรกเข้ามา แต่บางทีก็ดึงเข้าดราม่าชวนหน่วงน่าอึดอัดใจ บางทีก็สร้างความสงสัยกับผู้ชมในเหตุผลของแต่ละการกระทำของตัวละคร หากจะให้พูดตรง ๆ ผมบอกได้เลยว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่ดูเพื่อความบันเทิงแน่นอนครับ
หนังเน้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นหลัก โดยเฉพาะกับตัวละคร ฟูมิ น้องสาวที่เป็นคนออกไอเดียโกหกแม่ แล้วหลังการตายของพี่ชายเธอยังเป็นคนที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจพอสมควร การซ้อมยิมนาสติกที่เป็นความใฝ่ฝันเธอทำได้ไม่ดีอย่างเคย จนในที่สุด ฟูมิ ตัดสินใจเข้ากลุ่มบำบัดผู้สูญเสียคนในครอบครัว แต่ไม่ว่ายังไงเธอก็ไม่เคยกล้าเล่าเรื่องของตัวเองออกมา ส่วนคนเป็นพ่ออย่าง ยูกิโอะ กลับรับมือความโศกเศร้าเสียใจด้วยการลงอ่าง (อันที่จริงเขามีเหตุผลอื่น) ตั้งแต่เมียอย่าง ยูโกะ ยังไม่ฟื้นตื่นขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ก็เลยสร้างความเข้าใจให้ลูกสาวอย่าง ฟูมิ มองว่า คนเป็นพ่อพอใจที่พี่ชายจากไปเสียที
ซึ่งหลังจากที่ ยูโกะ ฟื้นขึ้นมา แล้วเข้าใจว่าลูกชายไปทำงานที่อาร์เจนติน่า ครอบครัว ซูซุกิ ก็เหมือนจะใช้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้ แต่เปล่าเลย เมื่อการที่ทุกคนทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งที่ความจริงมันมี ก็เท่ากับว่าปมความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ในใจไม่ได้ถูกเยียวยาจริง ๆ เพียงแค่มันถูกกดเก็บเอาไว้เท่านั้น คนเป็นแม่อย่าง ยูโกะ กล่าวโทษว่าตัวเองมีส่วนที่ทำให้ลูกชายเป็นแบบนั้น คนเป็นพ่ออย่าง ยูกิโอะ แม้จะเคยพยายามหาหนทางช่วยเหลือลูกชาย แต่เขาก็เกิดความรู้สึกกลัวลูกชายและยอมแพ้ในที่สุด น้องสาวอย่าง ฟูมิ เองก็ไม่สามารถพูดความรู้สึกลึก ๆ ของตัวเองออกมาได้ เพราะมีบางอย่างติดค้างในใจทำให้รู้สึกผิดและกลัวที่จะยอมรับมัน
นอกจากนี้หนังไม่เพียงพูดถึงเฉพาะในมุมของคนที่รับมือกับการสูญเสียเท่านั้น แต่ยังแอบมีการสื่อสารกับผู้คนภายนอกที่อาจมองเข้ามาเห็นอีกด้วย เพราะเราไม่สามารถตัดสินวิธีการรับมือความโศกเศร้าของใครได้ ว่ามันดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด เมื่อคนเรามีวิธีการรับมือกับมันแตกต่างกันไป เหมือนกับที่ลูกสาว (รวมถึงคนดูด้วยในช่วงแรก) ไม่เข้าใจว่าพ่อไปอาบอบนวดทำไม หรือจุดที่สื่อสารให้เห็นชัดเจนขึ้นมาในบทสนทนาหนึ่ง ระหว่างตัวละครที่เข้าร่วมกลุ่มบำบัดด้วยกัน แล้วเกิดความเข้าใจผิดมีการตัดสินใครบางคน เพียงแค่ภายนอกที่เห็นเหมือนเขาคนนั้นไม่เป็นอะไร
เรื่องนี้เป็นหนังที่มีความยาวระดับสองชั่วโมงเศษ ๆ ที่เอาจริงเนื้อเรื่องไม่ได้มีอะไรมากเลย ค่อนข้างเน้นที่อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครเป็นหลัก หากจะถามว่าน่าติดตามไหมก็คงจะไม่ขนาดนั้น ถามว่าน่าเบื่อหรือเปล่าผมก็ว่าไม่ใช่อีกนั้นแหละ แม้บางคำถามในหนังเราอาจจะไม่ได้คำตอบ แต่มันยังพอมีบางจุดให้เราติดตาม ว่าตัวละครจะใช้วิธีไหนค้นหาหนทาง พูดคุยกับหัวใจตัวเองให้สามารถก้าวต่อไปได้จริง ๆ
ในช่วงท้ายรีวิวผมขอสรุปถึงหนังเรื่องนี้ว่า เป็นหนังที่ดูเอาสาระครับ ความบันเทิงค่อนข้างน้อย ถึงน้อยมาก แต่ก็แน่นอนว่าสาระของหนังก็มีมากเช่นกัน ในชีวิตคนเราอาจไม่ได้เจอกับความสูญเสียคนใกล้ตัวกันบ่อย ๆ แต่ก็คงไม่มีใครหนีพ้นที่จะได้เจอเข้าสักวัน หรืออย่างน้อยสุดเราก็จะได้แง่คิดจากหนังว่า วิธีการรับมือความโศกเศร้าของคนเรามันไม่เหมือนกัน บางครั้งเราก็ไม่ควรเอามาตรฐานตัวเองไปตัดสินใคร โดยที่เราไม่รู้บริบทความเป็นไปของเขาทั้งหมด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น