วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Review: Samaritan Girl (2004)

 Samaritan Girl (2004) บาปรัก บาดลึก

#ปีนรั้วรีวิว #Drama Director: Ki-duk Kim
      แจยอง (Yeo-reum Han) สาวมัธยมที่มีอาชีพเสริมด้วยการขายบริการ โดยมีเพื่อนซี้อย่าง ยอจิน (Ji-min Kwak) เป็นธุระจัดหาและติดต่อลูกค้าให้ ทั้งยังคอยทำหน้าที่ดูต้นทางเวลามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นโรงแรม เป้าหมายของสิ่งที่ทั้งสองคนเลือกเส้นทางนี้ ก็เพื่อเก็บเงินและเดินทางไปยังยุโรปด้วยกัน แจยอง นั้นมองตนเองเป็นเหมือน วสุมิตรา หญิงบริการที่ตำนานเล่าว่า หากชายใดได้นอนกับเธอจะกลายเป็นพวกเคร่งศาสนา แจยอง จึงอยากมอบความสุขนั้นให้กับเหล่าผู้ชาย แม้ ยอจิน จะไม่เห็นด้วยและตั้งคำถามกับความคิดที่ว่า

แล้ววันหนึ่งก็เรื่องร้ายขึ้นจนได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นห้องที่ แจยอง อยู่กับลูกค้า เธอตัดสินใจกระโดดหนีลงมาจากโรงแรมทั้งที่รู้ว่าตนเองอาจไม่รอด ยอจิน แบกเพื่อนรักขึ้นหลังรีบพาเธอไปส่งโรงพยาบาล แต่แทนที่ แจยอง จะห่วงตัวเอง เธอกลับขอร้องให้ ยอจิน พาลูกค้าคนหนึ่งที่เคยมีปากเสียงกับ ยอจิน มาพบเธอ ยอจิน ที่เห็นเพื่อนรักขอร้องเป็นครั้งสุดท้าย ได้พยายามร้องขอให้ชายคนนั้นเดินทางมาพบกับเพื่อนของเธอ แต่มันกลายเป็นข้อต่อรองให้ชายคนนั้นใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อให้ ยอจิน ยอมนอนกับเขาเพื่อคำตอบตกลง กว่าที่ ยอจิน จะพาชายคนนั้นมาถึงโรงพยาบาลได้ แจยอง กลับสิ้นใจไปเสียก่อน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ยอจิน จึงตัดสินใจสานต่อเจตนารมของเพื่อนรัก
      ผลงานการกำกับของผู้กำกับสุดติสชาวเกาหลี KimKiDuk ที่ส่วนตัวยอมรับว่ากับ Samaritan Girl (2004) เรื่องนี้ขณะดูผมเข้าไม่ถึงเท่าไหร่ ด้วยเนื้อหา สัญลักษณ์ และคำพูดต่าง ๆ ที่ใส่เข้ามา สารภาพว่าไม่รู้จักหรือคุ้นเคยเลยสักนิด ไม่ว่าจะเรื่องราวตอนแรกของ วสุมิตรา (Vasumitra) ที่ก่อนเขียนรีวิวผมลองค้นหาข้อมูลดูแล้ว ก็ไม่เจออะไรเกี่ยวกับตำนานของเธอเลย ที่พอจะหาข้อมูลได้และไขความกระจ่างเรื่องราวของหนังได้ก็คือ ซามาเรีย (Samaria) ตอนที่สองของหนัง กับตอนที่สามคือ โซนาตา (Sonata)

***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ***
***

วสุมิตรา (Vasumitra) ตอนแรกของหนังก็ตามที่เขียนในเรื่องย่อเลย เป็นเรื่องราวของ แจยอง เด็กสาวที่ขายบริการและคิดว่าการกระทำของเธอ คือความอารีที่มีต่อเพศชาย เธอไม่เคยมองผู้ชายที่มาซื้อบริการเธอว่าเป็นคนไม่ดี ต่างจาก ยอจิน ที่ต่อต้านไม่พอใจการกระทำของผู้ชายพวกนั้น แต่ในพาทแรกของ แจยอง หนังไม่ได้เล่านะว่า

มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเธอก่อนหน้านี้หรือเปล่า ทำไมเธอถึงมีแนวความคิดแบบนี้ หรือการที่ แจยอง ตัดสินใจโดดลงมาจากโรงแรม ที่เสมือนการจบชีวิตตัวเองนั้น มันมาจากเหตุผลอะไร จริงแล้วเธอกำลังมีความสุขหรือโศกเศร้ากันแน่ ถ้าหากหนังขยายความสักนิดน่าจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่อย่างว่าถ้าเข้าใจง่ายไม่ต้องตีความคงไม่ใช่หนัง KimKiDuk

ซามาเรีย (Samaria) จากที่พึ่งพากูเกิลไขความกระจ่างได้ว่า เป็นชื่อของดอกไม้สีขาวชนิดหนึ่ง (บ้านเราเรียกดอก บัวดิน) เป็นสัญลักษณ์วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก ที่สามาคมสะมาริตันส์ (Samaritan) เลือกใช้ และยังหมายถึง อาณาจักรโบราณ ดินแดนปาเลสไตน์ ในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ ที่ผู้คนในอาณาจักรนั้น ถูกเรียกว่าชาวสะมาริตันส์ ที่ถูกกล่าวขานว่ามีจิตใจอารี ชอบช่วยเหลือผู้คนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

จากชื่อหนัง Samaritan Girl พอจะเข้าเค้าแล้วใช่มั้ยครับ พาทที่สองนี่เองที่เป็นเรื่องราวของ ยอจิน เด็กสาวซึ่งรู้สึกผิดต่อ แจยอง ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย เธอจึงตัดสินใจสืบทอดเจตนารมของเพื่อน ในการปลอบประโลม ปลดเปลื้องความทุกข์ ให้ผู้ชายเหล่านั้นที่มาใช้บริการของเธอ โดย ยอจิน ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งยังคืนเงินกลับไปให้กับลูกค้า ที่เคยจ่ายเพื่อซื้อบริการจาก แจยอง อีกด้วย

โซนาตา (Sonata) บทเพลงจากผู้เป็นพ่อ พาทที่สามนี้ออกจะแตกต่างจากสองตอนแรกของหนัง เมื่อเปลี่ยนมาเล่าเรื่องราวที่เป็นด้านตรงข้ามจากสองตอนแรก แน่นอนว่าเหล่าผู้ชายที่มาใช้บริการทางเพศจาก แจยองและยอจิน นั้น เป็นเรื่องผิด แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เด็กสาวสองคนคิดเอาเองว่า

ได้ปลอบประโลมมอบความสุขให้พวกเขาเหล่านั้น มันคือความสุขจริง ๆ ไม่ใช่ความรู้สึกผิดติดค้างในใจ เมื่อหนึ่งในนั้นหรือหลายคน ก็อาจจะมีลูกสาวอายุไร่เรี่ยกันกับพวกเธอ แล้วที่มากไปกว่านั้นหากพ่อแม่ของเธอรู้ล่ะ พวกเขาจะรู้สึกยังไง จะตัดสินใจทำอะไรลงไปบ้าง หากรู้ความจริงทั้งหมดขึ้นมา

ก่อนปิดท้ายที่ หล่มชีวิต กับสองฉากที่อธิบายบทสรุปของหนังในตอนสุดท้าย เมื่อคนเป็นพ่อแม่คงไม่สามารถไปกับลูกได้ตลอดเส้นทางถนนชีวิต สุดท้ายแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับลูก พวกเขาก็ต้องพยายามหาทางออกแก้ไขปัญหาให้ได้ด้วยตัวเอง

      สรุปแล้ว Samaritan Girl (2004) บาปรัก บาดลึก เป็นหนังที่ส่วนตัวผมเองสารภาพว่าตอนดูไม่เข้าใจเนื้อหาทั้งหมด แต่พอมาเขียนรีวิวได้เปิดค้นหาข้อมูลความหมายต่าง ๆ ของสัญลักษณ์ที่ถูกใส่ลงไปในหนัง จึงพอเข้าใจเนื้อหาขึ้นมาได้บ้าง เป็นหนังของ KimKiDuk ที่นำเสนอออกมากลาง ๆ แน่นอนว่าหนังของผู้กำกับคนนี้ไม่มีโลกสวยแน่นอน แต่สำหรับเรื่องนี้ก็ไม่ถึงกับมืดมนมากเกินไป ความรุนแรงก็น้อย บทพูดก็ถือว่าเยอะกว่ามาตรฐานหนังลุงคิมเขาล่ะ
 
ฝากช่องยูทูปรีวิวหนังช่องเล็ก ๆ ด้วยครับผม:  https://www.youtube.com/channel/UCo1Txn08XONf92m_kngztWQ
 
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์: Samaritan Girl (2004)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: All of Us Are Dead (2022)

 All of Us Are Dead (2022) มัธยมซอมบี้ Screenwriter:  Chun Sung Il Director:  Lee Jae Gyoo       ซีรีส์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธ...