วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

Review: PSYCHO (1960)

 PSYCHO (1960) ไซโค

#ปีนรั้วรีวิว Director: Alfred Hitchcock
      แมเรี่ยน เครน (Janet Leigh) เลขนุการสาวสวยของบริษัทจัดหาที่อยู่อาศัย เธอกิ๊กอยู่กับ แซม โรมิส (John Gavin) พ่อหม้ายหนุ่มหล่อ แม้ทั้งสองคนจะโสดด้วยกันทั้งคู่ แต่ด้วยความจำเป็นหลายอย่างทำให้ไม่สามารถคบกันได้อย่างเปิดเผย นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ แมเรี่ยน ไม่อยากคบอย่างหลบซ่อนอีกต่อไป เลยตัดสินใจยักยอกเงินของ จอร์จ โรเวลี่ (Vaughn Taylor) นายจ้างของเธอ แล้วหนีไปจากเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา เพื่อจะได้ปลดเปลื้องภาระและได้อยู่กับคนรักสมใจ

แต่ระหว่างเดินทางเกิดฝนตกหนักขึ้นมา ทำให้ แมเรี่ยน จำต้องจอดรถพักที่ เบทส์โมเต็ล ที่พักชั่วคราวที่อยู่ในทางหลวงสายเก่า โรงแรมเก่าที่แทบจะถูกทิ้งร้าง เมื่อทางหลวงเส้นใหม่เปิดจึงแทบไม่มีใครเข้ามาใช้บริการ โรงแรมแห่งนั้นดูแลโดย นอร์แมน เบตส์ (Anthony Perkins) หนุ่มหล่อท่าทางซื่อ ๆ ที่อาศัยอยู่กับ นอร์ม่า เบทส์ แม่ของเขา ที่ นอร์แมน บอกว่าเธอกำลังป่วยอยู่ แต่สิ่งที่ แมเรี่ยน เห็นด้วยตากลับตรงกันข้าม เมื่อเธอเห็นหญิงสาวคนนั้นแข็งแรงดีทุกอย่าง และมักจะพูดจาข่มเหงลูกชายอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยท่าทางเป็นมิตรของอีกฝ่าย แมเรี่ยน จึงไม่ทันสงสัยเลยว่า แม่ลูกคู่นี้อาจจะมีอะไรผิดปรกติปิดบังซ่อนเอาไว้
      หนังสยองขวัญคลาสสิกขึ้นหิ้ง ของปรมาจารย์หนังสยองขวัญ ระทึกขวัญ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ที่สร้างจากนิยายของ โรเบิร์ต บล็อค ที่ถูกสร้างออกมาเป็นหนังขาวดำ ทั้งที่ในยุคนั้นก็สามารถถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สีได้แล้ว เท่าที่ผมเคยอ่านสาเหตุของการเลือกถ่ายเป็นข่าวดำผ่านตามา มีทั้งบอกว่าเพื่อลดความน่ากลัวของฉากฆาตกรรม บ้างก็บอกว่าเพื่อการลดต้นทุนและเพื่อให้ออกมาในโทนหนังเกรดบี ซึ่งอันนี้แอดก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่ามันใช่เหตุผลจริง ๆ ไหม

***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ***
**


ส่วนหนึ่งเพราะเอาจริงฉากในหนังที่เป็นที่กล่าวขานถึง อย่างฉากจัดการ แมเรี่ยน เครน ในห้องน้ำ มันก็ไม่ได้โจ่งครึ่มอะไรขนาดนั้น แต่ด้วยความที่ต่างยุคต่างสมัยกัน การที่แอดจะสรุปเอาว่าความรุนแรงเท่านั้น ไม่มากสำหรับในยุคนั้นก็คงจะไม่ได้อีกนั่นแหละ ขนาดว่าโถส้วมยังเป็นสิ่งต้องห้ามในหนังยุคนั้นเลย ซึ่ง ปู่ฮิตช์ค็อก ก็จัดการใส่มันเอาไว้ในหนังเรื่องนี้ด้วย

เกร็ดของฉากฆาตกรรมในห้องน้ำอีกอย่างหนึ่งก็คือ เลือดของ แมเรี่ยน ที่ไหลออกมานั้น ด้วยความที่เป็นหนังขาวดำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปู่ฮิตช์ค็อก เลยจัดการใช้ช็อกโกแลตไซรัปแทนเลือดของจริง ซึ่งทำให้ภาพที่ได้ออกมา การไหลจากความเหลวของช็อกโกแลตไซรัป มันทำให้ภาพออกมาสวยจริง ๆ

ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกน่าจะประมาณตอน ม.1 เห็นจะได้ ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำให้ผมหันมาชอบ หนังสยองขวัญแบบจริงจังมาตั้งแต่นั้น เสน่ห์ของหนังสยองขวัญระทึกขวัญสไตล์ปู่ฮิตช์ค็อก คือการเล่นกับความหวาดระแวง ความกลัว สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานที่หนังสยองขวัญสักเรื่องควรมี แต่ไม่ใช่ผู้กำกับทุกคนจะสร้างหนังที่มีความรู้สึกพวกนี้ออกมาได้ หากเป็นคนที่รู้สปอยมาก่อนหรือดูหนังสยองขวัญในยุคใหม่มาโชกโชน

หากได้ดูหนังเรื่องนี้ในยุคนี้ คงจะบอกว่าไม่เห็นจะมีอะไรเลย หรืออาจจะพอคาดเดาฆาตกรตัวจริงได้ด้วยซ้ำ แต่อย่างหนึ่งต้องไม่ลืมว่าหนังเรื่องนี้ออกฉายมาตั้งแต่ปี 1960 แล้ว อะไรต่าง ๆ ในหนังฆาตกรรมยุคใหม่ที่เห็นกันอยู่ ส่วนมากล้วนแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Psycho เรื่องนี้และปู่ฮิตช์ค็อก ด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจหากเราจะรู้สึกคุ้นเคยกับหนังเรื่องนี้

นอกจากความกล้าในการแหกประเพณี ไม่ว่าจะการใส่ฉากรุนแรงในหนัง หรือฉากโถส้วมที่ถูกใส่เข้ามาอย่างตั้งใจแล้ว อีกความกล้าของหนังเรื่องนี้ก็คือ การฆ่าตัวละครหลักที่ดำเนินเรื่องมากว่าครึ่งอย่าง แมเรี่ยน ให้ตายอย่างง่ายดาย เมื่อไม่ว่าจะคนดูในยุคก่อนหรือยุคนี้ ในทีแรกใครก็คงมองว่า แมเรี่ยน เป็นตัวละครเอกดำเนินเรื่องแน่ ๆ แต่กลับถูกผู้กำกับฆ่าตายเอาดื้อ ๆ ซะอย่างนั้น

ถามว่าหนังเรื่องนี้หากให้ดูในยุคนี้ จะยังสนุกไปกับหนังได้อยู่ไหม ส่วนตัวผมเองที่รู้สปอยเพราะเคยดูมาก่อนหน้า(นานแล้ว) ก็ยังสามารถบันเทิงไปกันหนังได้อยู่นะ แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่า หนังไม่บันเทิงเท่าหนังในสมัยนี้หรอก จุดเด่นของหนังก็คงไม่พ้นความคลาสสิก ศิลปะภาพยนตร์ ที่คนรักหนังน่าจะได้ลองดูสักครั้งหนึ่ง

ส่วนที่ผมชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ เห็นจะเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดการฆาตกรรม แมเรี่ยน หนังขายความหวาดระแวง สงสัยใคร่รู้ได้ดี เมื่อ แมเรี่ยน ต้องหนีจากความกลัว ตื่นตระหนกของตัวเอง มันสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งนะว่า เธออาจจะหอบเงินหนีมาได้ แต่เธอหนีความรู้สึกกลัว ความรู้สึกผิดในใจไม่พ้น จนในที่สุดเธอตัดสินใจจะกลับหลังหัน ทว่ามันไม่ทันแล้ว ส่วนเนื้อหาหลังจาก นอร์แมน มารับช่วงดำเนินเรื่องต่อไปนั้น มันเหมือนเป็นหนังอีกเรื่องหนึ่ง ที่หันมาขายหักมุม ฉากระทึกขวัญแทน อารมณ์ของหนังเลยเหมือนแบ่งเป็นสองส่วนที่ต่างกัน

สรุปแล้ว PSYCHO (1960) ไซโค เป็นหนังสยองขวัญคลาสสิก ที่คงบอกได้ว่าอาจจะไม่ได้บันเทิงสนุกเท่าหนังสมัยใหม่หรอก แต่หากใครเป็นคนชอบดูหนัง อยากเห็นศิลปะภาพยนตร์ของหนังสยองขวัญในยุคก่อน เรื่องนี้ก็เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดอีกเรื่องหนึ่ง จริง ๆ ยังมีเกร็ดหนัง มีรายละเอียดอีกเยอะ แต่เห็นว่าคนเขียนเยอะสามารถค้นหาอ่านกันได้ง่ายอยู่แล้ว แอดเลยขอเขียนในภาพรวมของหนังเท่านั้นก็แล้วกัน แล้วก็แอดตั้งใจจะดูให้ครอบ 4 ภาคต้นฉบับ คงจะทยอยลงรีวิวเรื่อย ๆ จนครบ
 
ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์: PSYCHO (1960)

#MovieReview #รีวิวหนัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: #Alive (2020)

 #Alive (2020) คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ Screenwriter & Director:   Jo Il Hyung       ตั้งแต่ทั่วโลกได้รู้จักกับ Train to Busan ก็ต้องบอกว่า ไม...