วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564

Review: Zankoku na kankyakutachi (TV Mini-Series 2017)

 Zankoku na kankyakutachi (TV Mini-Series 2017) เหล่าผู้ชมที่แสนโหดร้าย

#ปีนรั้วรีวิว #Mystery
      ซีรี่ส์จากสาว ๆไอดอลวง เคยากิซากะ 46 "Keyakizaka46" เรื่องราวในโลกอนาคตอันใกล้ของโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง โรงเรียนที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องบอกชื่อต่อกัน แต่ละคนจะมีแค่เพียงหมายเลขประจำตัวเท่านั้น ในวันหนึ่งห้องเรียนที่มีนักเรียน 21 คน ขณะหมดคาบเรียนและทุกคนกำลังจะกลับบ้าน พวกเธอไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปรกติใด ๆ เลย กระทั่งเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งเดินไปเปิดประตู แต่เธอกลับเปิดมันไม่ออก ไม่ว่าเพื่อนคนอื่นจะเข้ามาช่วยและออกแรงเท่าไหร่ก็ตาม

จนมีเด็กนักเรียนบางคน สังเกตเห็นแทปเล็ตเครื่องหนึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะหน้าชั้นเรียน จึงได้รู้ว่าพวกเธอและเพื่อน ๆ ในห้องเรียน กำลังถูกถ่ายทอดสดผ่านเครื่องนั้น หนทางเดียวที่พวกเธอจะออก จากห้องปิดตายที่ว่านั่นไปได้ก็คือ ทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ ซึ่งภารกิจแรกก็คือ ให้นักเรียนแต่ละคนทำอะไรก็ได้ เพื่อแลกกับยอดกดไลค์ ใครก็ตามที่ยอดไลค์ไปถึง 10,000 ไลค์ก่อน ก็จะได้รับอิสระออกไปจากห้องนั้นอย่างปลอดภัย

***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ***
***

      เอาจริงเนื้อหาของซีรี่ส์เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย ใช้คำว่ามันไม่บันเทิงเอาเสียเลยก็น่าจะได้ หากจะหาเหตุผลมาบอกว่าหนังเรื่องนี้มีดีอย่างไร คงจะเป็นสาว ๆ ไอดอลวง เคยากิซากะ 46 นี่แหละ อีกส่วนหนึ่งก็คงเพราะใจความของหนังที่พยายามสื่อถึง ที่ผมขอให้คำจำกัดความว่าเป็น “วิถีไอดอล” เมื่อแต่ละตอนซีรี่ส์จะกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ทั้งในแง่มุมเสียดสีตนเอง เหล่าผู้ติดตาม ทั้งในมุมมองด้านบวกและลบ ส่วนตัวคิดว่าทำออกมาได้ตรงและค่อนข้างแฟร์เลยนะ

ในห้องแรกการที่พวกเธอจะไปให้ถึง 10,000 ไลค์ มันต้องแลกมาด้วยการที่พวกเธอ ต้องทำท่าทางประหลาด ตลก เซอร์วิสเอาอกเอาใจผู้ชม เพื่อให้เขากดไลค์ให้พวกเธอ ซึ่งมันเป็นอะไรที่พวกเธอไม่เต็มใจจะทำ แต่ที่ต้องทำก็เพื่อความอยู่รอด มันก็สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งนะว่า การเป็นไอดอลที่ต้องทำ น่ารัก หน้าตาตลก ๆ เซอร์วิสเอาใจแฟน ๆ

บางทีนั่นอาจไม่ใช่ตัวตนของพวกเธอหรือสิ่งที่พวกเธอพึ่งพอใจนัก ทั้งหมดที่ต้องทำก็เพื่อความอยู่รอด ไม่ให้ตกขบวนและได้ไปต่อ เพราะแรงสนับสนุนที่ทำให้ไอดอลได้ไปต่อก็คือ ความนิยมของแฟน ๆ ซึ่งในซีรี่ส์เรื่องนี้แทนด้วยยอดกดไลค์

ซีรี่ส์ยังไม่ได้กล่าวถึงเพียงแค่เรื่องระหว่างไอดอลกับแฟน ๆ แต่ยังพูดถึงไอดอลกับไอดอลด้วยกันเอง ที่ไม่ควรชิงดีชิงเด่นด้วยการกลั่นแกล้งกัน เพราะมันอาจทำลายความฝันของเพื่อนได้ เมื่อการทำงานเป็นทีมหากเสียหายไปหนึ่งคนมันอาจจะทำให้ล้มทั้งทีมได้ แต่การช่วยสนับสนุนกันมันจะทำให้ผ่านเรื่องราวไปด้วยกันและไปได้ไกลกว่า

การอยู่ร่วมกันกับคนหมู่มาก การทำงานร่วมกันเป็นทีม จะวันแมนโชว์ทำตัวไม่พึ่งพาใครโดดเด่นเกินไปก็ไม่ดี เพราะจะทำให้ถูกเพ่งเล็งหมันไส้เอาได้ หรือจะอ่อนแอมีโลกส่วนตัว สันโดษ อยู่ตัวคนเดียวไม่เอาใครเลยก็ไม่ได้อีกเช่นกัน แต่อีกมุมหนึ่งซีรี่ส์ก็บอกว่าในบางสถานการณ์ ทีมก็ต้องการผู้นำ คนที่มีพลังมากพอที่จะประคับประคองทีมนี้ให้ไปตลอดรอดฝั่งได้

ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่หนังใส่เข้ามาอีกอย่างการแบ่งปัน ความเชื่อใจ และอย่างสุดท้ายที่หนังเน้นย้ำทุกตอนก็คือ “ความพยายาม” เมื่อการเป็นไอดอล มันต้องมีความพยายามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนชะตากรรมที่นักเรียนในห้องนั้นได้เจอนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าทำให้แฟน ๆ พอใจได้ครั้งหนึ่งแล้วจะจบแค่นั้น

เมื่อความพอใจของแฟน ๆ มันไม่มีที่สิ้นสุด พวกเธอจึงต้อง “พยายาม” ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน จนกว่าพวกเธอจะจบการศึกษานั่นแหละ ตอนจบของซีรี่ส์เลยทำให้นึกไปถึงหนังเรื่อง Osama Game (2011) เกมกระราชา อยู่เหมือนกัน ที่เหมือนเป็นการส่งไม้ต่อวนลูปไปไม่รู้จักจบสิ้น

สรุปแล้ว Zankoku na kankyakutachi (TV Mini-Series 2017) เหล่าผู้ชมที่แสนโหดร้าย อย่างที่บอกไปแหละว่าซีรี่ส์ไม่สนุกหรอก เนื้อหาก็แทบไม่มีอะไรเลย หากจะหาเหตุผลที่ควรดูคงจะเฉพาะกลุ่มแฟน ๆ ไอดอลวง เคยากิซากะ 46 "Keyakizaka46" นี่แหละ อาจจะรวมถึงหนุ่ม ๆ ที่อยากดูความน่ารักเซอร์วิสชวนจิ้นก็พอได้เหมือนกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: #Alive (2020)

 #Alive (2020) คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ Screenwriter & Director:   Jo Il Hyung       ตั้งแต่ทั่วโลกได้รู้จักกับ Train to Busan ก็ต้องบอกว่า ไม...