Dongjae, the Good or Bastasd (2024) ดงแจ อัยการสองคม
ซีรีส์เกาหลีภาคแยกของตัวละครอัยการซอดงแจ จากซีรีส์เกาหลีสืบสวนเรื่อง Stranger (TV Series 2017–2020) ที่ละครสีเทาที่ทำอะไรพลิกแพลงตามสถานการณ์คาดเดายากว่าสิ่งที่ทำจะดีหรือแย่
อัยการซอดงแจ ที่ชีวิตตกต่ำเสียชื่อเสียงจากผลของการกระทำในอดีต ปัจจุบันกลายมาเป็นพี่เลี้ยงให้อัยการรุ่นน้องในสำนักงานอัยการเขต ด้วยความอยากกอบกู้หน้าที่การงานและชีวิตครอบครัวที่พังลง จึงพยายามมองหาคดีใหญ่สักคดีหนึ่งที่จะพาเขากลับไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด แล้วก็โป๊ะเชะ เมื่อคดีพิพาทระหว่างเจ้าของร้านขายอาหารกับเสี่ยรถหรูดูจะมีเงื่อนงำอะไรเป็นพิเศษ เมื่อมันอาจจะเกี่ยวกับ นัมวานซอง ประธานบริษัทก่อสร้างขาใหญ่ประจำเมืองที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง
แต่ความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อเกิดคดีฆาตกรรมนักเรียนมัธยมหญิงคนหนึ่ง พัวพันไปถึงลูกชายของประธานนัมวานซอง อัยการซอดงแจเลยมาถึงทางแยกชีวิตอีกครั้ง เขาจะเลือกทางไหนระหว่างเป็นอัยการที่ดีทำไปตามหน้าที่ที่ควรทำ หรือจะเลือกเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากคดีความเหมือนที่ผ่านมา
ซีรีส์แนวสืบสวนที่ทำให้หายคิดถึงบรรยากาศซีรีส์เกาหลีแนวนี้ ที่ช่วงหลังเหมือนเกาหลีจะไม่ค่อยทำแนวสืบสวนออกมาเท่าไหร่ ช่วงก่อนโควิดระบาดนี่ทำออกมาเรื่องชนเรื่อง บางช่วงแนวสืบสวนออนแอร์พร้อมกันสองช่องเลยก็มี แต่หลังโควิดเหมือนนานทีแนวสืบสวนจะมาสักเรื่อง ซึ่งก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมแอบเสียดายอยู่เหมือนกัน
มาว่ากันที่เนื้อหาซีรีส์บ้าง ส่วนที่ที่บอกว่าเรื่องนี้ทำให้หายคิดถึงซีรีส์เกาหลีแนวสืบสวนก็เพราะว่า ซีรีส์ทำได้ตามมาตรฐานที่ควรเป็น เนื้อหาดูสนุก บทมีความซับซ้อนประมาณหนึ่งแต่ไม่ได้ดูยาก ก่อนดูแอบคิดว่าซีรีส์จะเล่าในธีมเดียวกับเรื่อง Stranger (TV Series 2017–2020) หรือเปล่าด้วยความที่ตัวละคร ซอดงแจ มาจากเรื่องนี้ ซึ่งเป็นซีรีส์ที่เขียนบทได้ละเอียดมาก เชื่อมโยงเหตุการณ์ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ดูไม่น่าเกี่ยวข้องเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างแนบเนียน ซึ่งมันสนุกจริงแต่ก็แอบดูยากแล้วต้องใช้สมาธิตอนดูเอามาก ๆ แต่พอดู Dongjae, the Good or Bastasd (2024) เรื่องนี้จบ ต้องบอกว่าซีรีส์เล่าคนละแนวคนละธีมกันเลย ใน ดงแจ อัยการสองคม เรื่องนี้ซีรีส์เล่าได้บันเทิงแล้วก็มีความวายป่วงกับสถานการณ์ที่ตัวละคร ซอดงแจ ต้องเจอ ส่วนตัวรู้สึกว่าวิธีการเล่าแบบนี้มันเข้ากับคาแรคเตอร์ของตัวละคร ซอดงแจ ดีทีเดียว
หากจะถามว่าซีรีส์เรื่องนี้เล่าถึงอะไร คงจะเล่าถึงการกระทำของคนบางคน สถานการณ์บางสถานการณ์ บางครั้งมันจำกัดความได้ไม่ตายตัวว่าการกระทำนั้นดีหรือไม่ดี อัยการซอดงแจ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน หากมองแค่สิ่งที่เขาต่อสู้ด้วย มันก็ดูเหมือนว่าเขากำลังสู้กับคนมีอิทธิพล คนกระทำผิด แต่ถ้าเรามองในมิติเป้าประสงค์ของตัวละคร อัยการซอดงแจ ก็ไม่ได้อยากผดุงความยุติธรรมอะไรเลย เจ้าตัวแค่ไม่อยากถูกสนตะพายจากคนที่กุมจุดอ่อนของตัวเองไว้ก็เท่านั้น ตัวละครอัยการซอดงแจเลยเหมือนจะลบล้างประโยคที่ว่า "ดูคนให้ดูที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด" เมื่อบางครั้งการกระทำมันก็บอกอะไรไม่ได้ทั้งหมด เราไม่สามารถล่วงรู้ความคิดหรือเจตนาแอบแฝงในใจคนได้
ถามว่านอกจากความชอบต่อซีรีส์เรื่องนี้แล้วยังมีความรู้สึกอะไรอีก ส่วนตัวคงจะเป็นความรู้สึกเสียดายที่ซีรีส์ใช้คาแรคเตอร์อัยการซอดงแจไม่ค่อยคุ้ม ถ้าพูดถึงวิธีการดำเนินเรื่องมันสนุกตามมาตรฐานจริง แต่ด้วยความที่คาแรคเตอร์ซอดงแจมันสามารถใส่ลูกเล่นเข้าไปได้อีก ที่อาจทำให้คนดูรู้สึกคาดเดาไม่ได้ว่าตัวละครนี้จะตัดสินใจแบบไหน เพราะความวายป่วงคาดเดาไม่ได้มันมีแค่ช่วงแรกนิดเดียว หลังจากนั้นก็เล่าตามสเตปแบบที่ไม่ได้มีอะไรพลิกไปจากที่คาด เลยแอบเสียดายอยู่นิดนึง
ในส่วนของคดีความในเรื่องก็เล่าได้น่าติดตาม ด้วยความที่คดีฆาตกรรมมีผู้ต้องสงสัยถูกจับ แต่เราก็แอบคิดอยู่แล้วว่าไม่น่าใช่ คนร้ายตัวจริงก็เลยยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา ในแง่ของคดีความเลยมีความทับซ้อนกันระหว่างความขัดแย้งของตัวละครนัมวานซองพ่อของผู้ต้องสงสัย กับอัยการซอดงแจ ที่คนหนึ่งก็พยายามจับจุดอ่อน ส่วนอีกคนก็พยายามใช้อำนาจทางกฎหมายเป็นตัวช่วยให้รอด กับอีกแง่หนึ่งก็ต้องพยายามตามหาคนร้ายตัวจริง รวมถึงเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งถึงถูกฆาตกรรม
หากจะให้สรุปผมคงบอกได้ว่า ดงแจ อัยการสองคม เรื่องนี้เป็นซีรีส์สืบสวนที่สนุก ดูแล้วพอได้หายอยากที่ไม่ค่อยมีซีรีส์สืบสวนเกาหลีให้ดูในช่วงหนัง ถึงจะเล่าคนละธีมกับซีรีส์เรื่อง Stranger (TV Series 2017–2020) แต่ก็แอบมีกลิ่นอายติดปลายจมูกมาบ้าง ไม่ว่าจะแง่ของความเชื่อมโยงคดีความต่าง ๆ ที่เหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่ก็กลายเป็นเรื่องเดียวกัน หรือจะประเด็นของการสืบสวนความผิดของคนภายในองค์กร ที่เรื่องนี้แม้จะไม่ได้เล่าโดยตรง แต่ก็มีแทรกเรื่องคนในองค์กรที่ไปรับผลประโยชน์จากผู้มีอิทธิพล กลายเป็นชนักติดหลังที่ดึงไม่ออกต้องคอยตามล้างตามเช็ดให้ผู้มีอิทธิพล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น