Mouse (tvN/2021) รับชมได้ทางแอป VIU/ WeTV/ iQIYI
#ปีนรั้วรีวิว #Action #Crime #Mystery Director: Choi Joon-Bae เนื้อหาของซีรีส์เล่าเรื่องราวที่มีจุดเริ่มต้นขึ้นในอดีต เมื่องานวิจัยด้านพันธุกรรมไซโคพาธของ ดร. แดเนียล อี ประสบความสำเร็จได้ผลแม่นยำถึง 99 % ท่ามกลางความโกลาหลของข่าวฆาตกรรมต่อเนื่องฉายานักล่าหัว เขาจึงได้รับเชิญให้มาร่วมพิจารณากฎหมาย ที่จะทำให้โลกกลายเป็นยูโทเปียที่สมบูรณ์ ด้วยการตรวจพันธุกรรมไซโคพาธเด็กทุกคนที่กำลังจะเกิดขึ้นมา แล้วจัดการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้เด็กที่มียีนส์ไซโคพาธลืมตาขึ้นมาดูโลก แน่นอนว่ามีหลายเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยจึงทำให้กฎหมายนั้นตกไปเวลาผ่านไปนานหลายปีหลังจากฆาตกรฉายานักล่าหัวโดนจับ ตำรวจน้องใหม่อย่าง จองบารึม (อีซึงกิ) ได้เป็นอาสาสมัครของโบสถ์ เข้าไปสร้างความบันเทิงให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ กลับต้องเผชิญกับเรื่องน่ากลัว เมื่อผู้คุมเรือนจำ นาชีกุก (อีซอจุน) เพื่อนสนิทของเขาตกเป็นเหยื่อของฆาตกร แม้จะเอาชีวิตรอดมาได้แต่ นาชีกุก ก็ต้องอยู่ในภาวะโคม่า สังคมที่เคยสงบสุขก็กลับมาโกลาหลอีกครั้ง เมื่อเหตุร้ายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเรือนจำ แต่เกิดเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องขึ้นหลายรายในเมืองมูจิน
จากการหาเบาะแสของ โกมูจี (อีฮีจุน) นายตำรวจที่ โกมูวอน (คิมยองแจ) พี่ชายกลายเป็นคนพิการ และสูญเสียพ่อแม่ให้กับฆาตกรนักล่าหัว หลักฐานหลายอย่างที่เขาได้มาบ่งชี้ว่า เป็นฝีมือของฆาตกรไซโคพาธเหมือนในอดีต ซึ่งผู้ต้องสงสัยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คนคนนั้นก็คือ ซองโยฮัน (ควอนฮวาอุน) หมอหนุ่มที่เป็นลูกชายของฆาตกรต่อเนื่องนักล่าหัว ที่อาจได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรมไซโคพาธมาจากผู้เป็นพ่อมา
ซีรีส์เกาหลีแนวสืบสวน ฆาตกรรมต่อเนื่อง สุดปังอีกเรื่องหนึ่งของปีนี้ เพราะนอกจาก Beyond Evil ที่ปังสุด ๆ จนได้ละครยอดเยี่ยมจากเวทีแบคซัง อาร์ต อะวอร์ดไปแล้ว ผมว่า Mouse ก็เป็นซีรีส์แนวสืบสวนที่สนุกไม่แพ้กันเลย หรือหากมองในแง่มุมของความระทึกขวัญบันเทิง Mouse เรื่องนี้อาจจะมีมากกว่าด้วยซ้ำ แต่ในแง่มุมของมิติเรื่องราวและตัวละคร ตัวผมยังยกให้ Beyond Evil ทำได้ดีกว่า ส่วน Mouse เรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตัวละครพบเจอมา มากกว่าที่จะพาผู้ชมไปสำรวจจิตใจตัวละคร
เป็นซีรีส์ที่เก็บซ่อนปมดัดหลังคนดูครั้งแล้วครั้งเล่า พอผมหาข้อมูลมาเขียนรีวิวเห็นชื่อคนเขียนบทชเวรันแล้วก็ไม่แปลกใจครับ เพราะนักเขียนคนนี้เป็นคนเดียวกับที่เชียนบทเรื่อง Black (OCN / 2017) หรือ ยมทูตแบล็กของพระเอกซงซึงฮอน ที่หลายคนอาจจะเคยดูกันมาแล้ว ซึ่งเป็นซีรีส์แนวสืบสวนอีกเรื่องหนึ่งที่หักมุม จนแทบต้องร้องขอชีวิตกันทีเดียว แต่ในซีรีส์ Black ผมว่าบทยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไหร่ เพราะตอนปูเรื่องก็ปูซะนานไม่เข้าเนื้อหาหลักสักที พอเข้าเนื้อหาหลักจะหักมุมก็หักมุมรัวเป็นชุด จนรู้สึกว่ามันเฝือเกินพอดีไป ส่วน Mouse เรื่องนี้ผมว่านักเขียนชเวรัน เขียนบทได้ลงตัวมากกว่าครับ อาจจะมีปมที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่บทจะไม่ผูกหลายปมมากเกินไป แล้วค่อย ๆ คลี่คลายทีละปมก่อนผูกปมใหม่อีกครั้ง ซึ่งการเฉลยแต่ละปมมันอาจไม่ใช่การเฉลยเสมอไปทุกครั้ง เมื่อความจริงมันยังสามารถพลิกได้อยู่ตลอด
อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบแล้วก็ขอชมคนเขียนบท ก็คงจะเป็นการที่ซีรีส์สร้างตัวละครเอกให้เป็นฆาตกรต่อเนื่อง โดยที่ไม่ทำให้เขาเป็นฆาตกรต่อเนื่อง หลายคนอ่านแล้วอาจจะงง แต่หากอธิบายขยายความเยอะ ผมกลัวว่ามันจะเป็นการเปิดเผยเนื้อหามากไป ถ้าอย่างนั้นผมขอจำกัดความถึงสั้น ๆ ก็แล้วกันครับ ว่าตัวละครนี้เราจะเห็นเขาเป็นคนดีตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะตอนที่เรายังไม่รู้ หรือว่ารู้แล้วว่าเขานั่นแหละคือฆาตกรต่อเนื่อง เป็นเทคนิคการเขียนบทกับการลำดับเรื่องราวที่ซีรีส์นำมาใช้แล้วผมชอบมากทีเดียว ส่วนหนึ่งคงต้องชมชเวจุนเบผู้กำกับเรื่องนี้ด้วยล่ะครับ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากบทออกมาได้ดีเหมือนกัน
ในตอนแรกผมเห็นว่าซีรีส์นำเรื่องของพันธุกรรมไซโคพาทขึ้นมาเป็นประเด็น ผมนึกว่าซีรีส์จะใช้เป็นดราม่าหลัก เรื่องของการที่เด็กเกิดมามียีนส์ไซโคพาธในตัว กับความสำคัญของการเลี้ยงดูอะไรทำนองนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่ถึงกับนำมาเป็นประเด็นหลัก แต่เป็นการใส่เข้ามาในช่วงต้นก่อนจะจางลงไป แล้วค่อยใส่บทสรุปประเด็นนี้ในช่วงท้าย ส่วนปมดราม่าอื่น ๆ ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องของการให้อภัยเพื่อที่ครอบครัวของเหยื่อจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ผ่านตัวละครนายตำรวจ โกมูจี กับพี่ชาย โกมูวอน ที่เป็นบาทหลวง ทั้งสองคนมีความขัดแย้งกันหลังการสูญเสียพ่อแม่ เมื่อคนหนึ่งเลือกที่จะตามล่าล้างแค้นฆาตกร ส่วนอีกคนหันหน้าหาพระเจ้าสามารถให้อภัยคนร้ายได้
เรื่องนี้ยังเป็นซีรีส์แนวสืบสวนอีกเรื่องหนึ่ง ที่หยิบเอาคดีที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่ายกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาเสียทีเดียว เป็นการดัดแปลงเรื่องราวมาใส่ในชีวิตของตัวละคร อย่างตัวละคร โอบงอี (พัคจุฮยอน) ที่เป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้มีบาดแผลในใจแล้วเธออยากจะเอาชนะมัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากคดีโชดูชุนเคส ที่ช่วงนี้ซีรีส์แนวสืบสวนเกาหลีแทบทุกเรื่องนำไปใส่เอาไว้ ไม่ว่าจะ Taxi Driver และ Law School ด้วยความที่เป็นกระแสสังคม หลังจากคนร้ายในคดีเพิ่งพ้นโทษมาไม่นานนี้
แล้วอีกหนึ่งคดีจากเรื่องจริงฮวาซองเคส คดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ปิดไม่ลง (ปัจจุบันปิดคดีได้แล้ว) เป็นมหากาพย์ยาวนานกว่าจะได้บทสรุป คดีที่หนังหรือซีรีส์สืบสวนเกาหลีแทบทุกเรื่องนำมาเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้นำมาใช้ในคดีกูรเยยองกับคดีซูซอง ผ่านตัวละคร คิมบงชอล สะท้อนในมุมมองของการแก้ไขความผิดพลาดในอดีตให้ถูกต้อง ที่ความสำคัญมันไม่ใช่แค่เพียงการคืนความยุติธรรมแก่แพะรับบาป แต่ยังเป็นการทำให้ครอบครัวของแพะที่เคยถูกตราหน้าจากสังคม ได้สามารถใช้ชีวิตในสังคมไม่ต้องถูก Social Sanction ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเองด้วยซ้ำ ในประเด็นนี้ยังถูกตอกย้ำอีกครั้งในช่วงท้ายของซีรีส์ ผ่านตัวละครโปรดิวเซอร์รายการข่าวเชิงสืบสวน ชเวฮงจู
นักแสดงในซีรีส์อาจจะดูเผิน ๆ เหมือนว่ามี อีซึงกิ ที่รับบทเป็น จองบารึม เพียงคนเดียวที่โดดเด่น ด้วยความที่เขาเป็นตัวละครที่ต้องแสดงให้ไม่มีอะไรน่าสงสัย แต่ลึก ๆ แล้วน่าสงสัย แต่ถ้าใครได้ดูแล้วจะรู้เลยว่านักแสดงคนอื่นในเรื่องก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน อย่าง โกมูจี ที่รับบทโดย อีฮีจุน ก็แสดงเป็นนายตำรวจเลือดบ้าได้ดี เขาต้องแสดงเป็นคนที่คลั่งแค้นแต่ภายในแล้วเป็นคนจิตใจดี แถมยังต้องจมอยู่กับความเศร้าอมทุกข์อยู่ข้างในลึก ๆ จากความสูญเสียในอดีตและสิ่งที่เกิดกับพี่ชาย
ส่วน โอบงอี ที่รับบทโดย พัคจูฮยอน กับ ชเวฮงจู ที่รับบทโดย คยองซูจิน สองนักแสดงหลักฝ่ายหญิง ก็ทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองได้ดีทั้งคู่ แล้วก็เป็นสองตัวละครที่ค่อนข้างน่าสงสารทีเดียวในพาทความรัก ที่จะว่าไปก็สมหวังในความรักด้วยกันทั้งสองคน เมื่อคนที่พวกเธอรักก็รักพวกเธอตอบ แต่บทสรุปของความรักและชะตากรรมมันก็ทำให้เจ็บปวด
ในมุมหนึ่งช่วงท้ายของบทสรุปผมไม่แน่ใจนะ ว่าซีรีส์ต้องการสื่อในประเด็นนี้หรือเปล่า แต่เหมือนจะบอกว่า ไม่ว่ามนุษย์เราจะมีพันธุกรรมไซโคพาธหรือไม่มี มนุษย์ก็มักหาเหตุผลมาฆ่ากันเองอยู่ดี เหมือนกับคนที่ต้องการสร้างยูโทเปียไร้อาชญากรรม พวกเขาก็ใช้ข้องอ้างนั้นในการก่ออาชญากรรมและฆ่าคนอยู่ดี ส่วนในประเด็นพันธุกรรมไซโคพาธซีรีส์ยังให้บทสรุปแบบปลายเปิด ไม่ได้ชี้นำไปด้านใดด้านหนึ่งเสียทีเดียว
อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบในช่วงท้ายคงจะเป็นคำพูดของ โกมูจี ที่ให้คำนิยามชะตากรรมของตัวฆาตกร ที่ไม่รู้ว่าจากการเป็นไซโคพาธที่ไร้ความรู้สึก ผิดชอบ ชั่วดี แต่กลับได้มาสัมผัสความรู้สึกแบบนั้น มันเป็นของขวัญจากพระเจ้าหรือว่าเป็นบทลงโทษกันแน่ ซึ่งมันสามารถมองได้ทั้งสองมุม เมื่ออาจเป็นความโชคดีหากมองจากคนที่ไม่เคยสัมผัสความรู้สึกนั้น แล้วได้มาสัมผัสสักครั้งในชีวิต หรืออาจจะมองว่าการไม่ต้องมีมโนสำนึกผิดชอบชั่วดีเลย มันอาจจะเป็นการทรมานใจน้อยกว่าก็ได้
หลังจากดูจนจบสุดท้ายแล้วผมว่า ไม่ว่าจะมียีนส์ไซโคพาธหรือไม่มี ที่สุดแล้วมันคงไม่ใช่แค่เคมีในร่างกายหรือนิสัย ที่ติดตัวเรามาแต่เกิดเท่านั้น มันยังมีอีกหลายองค์ประกอบ ที่หล่อหลอมให้ใครสักคนเป็นอย่างไรในอนาคต ฆาตกรในเรื่องนี้ก็เช่นกัน เขาพยายามฝืนสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาแล้ว แต่ที่สุดปัจจัยภายนอกมันก็ผลักให้เขากลายเป็นฆาตกรอยู่ดี ผมเคยอ่านจากบทความที่ไหนสักแห่ง แต่จำไม่ได้ละว่าอ่านมาจากที่ไหน เขาเปรียบเทียบการเลี้ยงลูกก็เหมือนการยิงธนูนั่นแหละ ต่อให้เราพยายามเล็งให้ตรงเป้าแค่ไหน มันก็ไม่ได้หมายความว่าลูกธนูจะเข้าเป้าเสมอไป เพราะมันมีปัจจัยภายนอกทั้งแรงลมและอะไรต่าง ๆ อีกสารพัด ที่จะทำให้ลูกธนูหลุดเป้าหมายอยู่ดี
ในช่วงท้ายรีวิวผมคงจะสรุปถึงซีรีส์เรื่องนี้ว่า เป็นซีรีส์แนวสืบสวน ระทึกขวัญ ฆาตกรรมต่อเนื่องที่งานดี สนุกมากอีกเรื่องหนึ่ง สามารถใช้คำว่าห้ามพลาดได้เลยล่ะครับ บทมีความซับซ้อนเก็บซ่อนความลับได้ดี แม้จะแอบหยอดให้ผู้ชมระแคะระคายคิดวิเคราะห์ตามได้บ้าง จังหวะการเฉลยเปิดเผยปมต่าง ๆ ดี เลยไม่ทำให้ดูแล้วรู้สึกงงหรือไม่เคลียร์กับเนื้อหา แล้วอย่างที่ผมบอกไปว่าการเฉลยบางปมมันก็ไม่ใช้การเฉลย แต่เป็นการสับขาหลอกคนดูอีกชั้นหนึ่ง ถือว่าเป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่ใช้สมาธิในการดูพอสมควรเลยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น