วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

白雪公主殺人事件 The Snow White Murder Case (2014)

白雪公主殺人事件 The Snow White Murder Case (2014) คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนว์ไวท
#ปีนรั้วรีวิว #Crime #Drama #Mystery Director: Yoshihiro Nakamura

      เมื่อเราอยู่ในยุคโซเชี่ยลแล้วข้อดีของมันก็คือการสื่อสารที่รวดเร็วแค่ปลายนิ้ว อยากจะติดต่อใครง่ายนิดเดียวแค่โทรหา ส่งข้อความ หรือใช้สื่อออนไลน์ที่มีหลายช่องทาง  แต่ในข้อดีมันก็มีข้อเสียเมื่อบางครั้งความง่ายและความไวของสื่อออนไลน์ สามารถส่งข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการกลั่นกรองหรือสร้างข่าวเท็จข่าวลวง เพื่อหวังผลในการ Mind Control ชักจูงความคิดของกลุ่มคน  ให้ไปในแนวทางที่ต้องการได้

      อาคาโฮชิ ยูจิ (Gô Ayano) เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของโทรทัศน์ช่องหนึ่ง  ได้รับโทรศัพท์จาก ริซาโกะ (Misako Renbutsu) เพื่อนเก่าของตัวเอง โทรมาบอกข่าวเรื่องราวคดีฆาตกรรมในอุทยานแห่งชาติ ชิกุเระวัลเลย์ ที่ตัวเธอเองเพิ่งจะถูกตำรวจสอบปากคำไปไม่นานนี้ 


      เนื่องจาก ริซาโกะ นั้นเป็นเพื่อร่วมงานกับ โนริโกะ มิกิ (Nanao) ผู้ตาย ทำให้ อาคาโฮชิ คิดว่าข่าวการฆาตกรรมชิ้นนี้จะทำให้ตัวเองกลายเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงได้ ไม่ต้องมานั่งเขียนรีวิวราเมนลงในทวิตเตอร์โดยที่ไม่มีใครสนใจ ทันทีที่ อาคาโฮชิ ตัดสินใจลงสนามทำข่าวนี้เขาก็เลิกการรีวิวราเมน  แต่เปลี่ยนเป็นการทวิตข้อความเรื่องราวของคดีฆาตกรรมนี้แทน และแบกกล้องลงพื้นที่เกิดเหตุจริงเพื่อทำการสัมภาษณ์ ริซาโกะ และเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆของโนริโกะ ซึ่งทุกคนให้การแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด

      แต่หลายคนบอกเล่าเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันว่า คนที่น่าจะมีโอกาสเป็นคนร้ายมากที่สุดก็คือ มิกิ ชิโรโนะ (Mao Inoue) ที่ในตอนนี้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และไม่มีใครได้พบเธอหลังจากคืนที่เกิดเรื่องอีกเลย 

      หนังสร้างจากนิยายของ มินาโตะ คานาเอะ ซึ่งผมไม่เคยอ่านฉบับนิยายเลยคงกล่าวถึงส่วนนั้นไม่ได้  กับฉบับภาพยนตร์นี้หนังสื่อสารข้อความต่างๆที่อยากนำเสนอออกมาได้ชัดเจนนะ ในการบอกว่าเราไม่สามารถเชื่อทุกอย่างที่รับรู้มาได้เสมอไป และบางครั้งที่เราเชื่อในบางเรื่อง  ไม่ได้หมายความว่าเรา    เชื่อไปเพราะมันคือเรื่องจริง แต่เราอาจจะเชื่อเพราะเราอยากให้มันเป็นไปตามนั้น  หรืออยากใช้ประโยชน์จากความเชื่อนั้นต่างหาก

      ขณะที่ อาคาโฮชิ ลงไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์  ตั้งแต่ ริซาโกะ ไปจนถึงคนอื่นๆที่เหลือ แต่ละคนก็เลือกที่จะเล่าตามมุมมองของตัวเอง  รวมทั้งยังเลือกเล่าแต่ในด้านที่จะเป็นผลดีต่อตัวเองด้วยกันทั้งนั้น เช่นเดียวกันกับ อาคาโฮชิ เอาจริงแล้วตัวเขาเองไม่ได้สนใจความจริงเลยด้วยซ้ำ เขาแค่อยากนำเสนอข่าวตามมุมมองที่เขาอยากให้มันเป็นก็เท่านั้น จากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดเราจะได้เห็นเขาตัดทอนคำพูด  และบิดเบือนประโยคเหล่านั้นให้ไปในทิศทางที่ต้องการ 

      การนำเสนอของหนังจึงเหมือน ราโชมอน กลายๆ  ในการบิดเรื่องราวของแต่ละตัวละครให้ไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ  เพียงแต่ว่าในหนังเรื่องนี้ตัวละครที่ดูจะมีเหตุผลให้ต้องบิดเรื่องเล่าของตัวเอง น่าจะมีแค่สองหรือสามตัวละครเท่านั้น พอตัวละครที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักเป็นแค่ผู้บอกเล่าประสบการณ์  แต่เจ้าตัวก็ดันไปบิดเรื่องเล่าของตัวเองด้วย  มันเลยรู้สึกแปลกๆเหมือนกันนะ กับการที่ตัวละครมามโนพูดเกินจริง  ใส่ไฟโดยที่ไม่มีเหตุผลรองรับ  เลยรู้สึกว่าส่วนนี้ของหนังมันจงใจแฟนตาซีเกินไป เราจึงไม่เชื่อใครสักคนที่บอกเล่าข้อมูลให้ อาคาโฮชิ ฟัง

      พูดถึงเรื่องแฟนตาซีแล้วตัวละคร มิกิ ชิโรโนะ ก็ไม่ต่างจากคนอื่นที่เลือกจะมอง  หรือเชื่อเฉพาะมุมมองที่ตัวเองพอใจเหมือนกัน  เวลาที่เธอต้องเจอกับเรื่องราวที่ทำให้ไม่พอใจ เสียใจ เธอก็จะสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาแล้วซ่อนความรู้สึกตัวเองเอาไว้ในนั้น จะว่าไปนี่ก็เลยเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง  ที่ทำให้คนอื่นมีทัศนคติต่อ ชิโรโนะ ในมุมมองที่ไม่ปรกติเหมือนคนอื่นทั่วไป

      ส่วนเรื่องฆาตกรนั้นจะว่าไปหนังก็เลือกตัวฆาตกร และวางตำแหน่งตัวละครนี้ในเรื่องได้ดีนะ แต่เฉลยจืดไปหน่อยอาจจะเพราะหนังไม่ได้เน้นหรือต้องการสื่อสาร หรือให้ความสำคัญกับเรื่องราวการฆาตกรรมเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเหตุผลของการฆ่าหรือตัวฆาตกร เอาจริงมันไม่ใช่สาระของหนังนั่นแหละ แค่ส่วนตัวคิดว่าเน้นหน่อยก็น่าจะดีนะ ฮ่าฮ่า

      ความอึดอัดขณะดูหนังเรื่องนี้มันเป็นความรู้สึกที่ว่า  ต้องเห็นตัวละครแต่ละตัวบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ตรงความเป็นจริง และเห็น อาคาโฮชิ บิดเรื่องราวไปตามความต้องการของตัวเอง แล้วเราต้องมานั่งขำกับตลกร้าย จากผู้ใช้ทวิตเตอร์ทั้งหลายที่มารับข้อมูลผิดๆ พร้อมทั้งแสดงความเห็นออกมาอย่างที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับอะไร รายการทีวีที่บิดเบือนข้อเท็จจริงจับแพะชนแกะเพื่อสร้างเรตติ้ง ที่สุดท้ายแล้วคนเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบกับผลการกระทำของตัวเอง 

      ทั้ง The Snow White Murder Case (2014) ของญี่ปุ่นและ Social Phobia (2014) ของเกาหลี ที่ออกฉายในปีเดียวกัน ต่างมีประเด็นในการนำเสนอใกล้เคียงกัน คือพูดถึงข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ กับคนรับสารเท็จที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองมา แล้วตัวเองก็เชื่อโดยไม่ใช้วิจารณญาณ นำมาวิพากษ์วิจารณ์ส่งต่อกัน โดยไม่สนใจว่าจะส่งผลกระทบกับใครมากขนาดไหน

      เพียงแต่ The Snow White Murder Case (2014) เรื่องนี้จะเน้นน้ำหนักไปที่การสร้างและบิดเบือนข้อมูลเท็จมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ ส่วน Social Phobia (2014) นั้นเน้นที่การวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ไม่สนใจข้อเท็จจริงและที่มาของข้อมูล ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้The Snow White Murder Case (2014) ก็เหมือนเสียดสีเว็บ clickbait ที่เผยแพร่ข้อมูลหลอกลวง ส่วน Social Phobia (2014) ก็เสียดสียูสเซอร์ที่กดไลค์ กดแชร์ คอมเมนต์ วิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ใช้วิจารณญาณกลั่นกรองข้อมูลให้ดีเสียก่อน

      สรุปแล้ว The Snow White Murder Case (2014) คดีฆาตกรรมเจ้าหญิงสโนว์ไวท์ เป็นหนังที่ข้อใช้คำว่าน่าติดตามนะ อารมณ์มันไม่ได้สนุกแบบความบันเทิง แต่มันน่าติดตามกับการที่เราอยากจะรู้ว่าแต่ละคนจะบิดเรื่องเล่าของตัวเองไปแค่ไหน ความจริงมันคืออะไร มิกิ ชิโรโนะ ฆ่า มิกิ โนริโกะ จริงมั้ย ทั้งยังเสียดสีผู้คนในสังคม ที่มักจะบอกเล่าแต่มุมมองที่ตัวเองเชื่อหรืออยากให้เป็น และการวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอย่างที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

#MovieReview #รีวิวหนัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: Forever and Ever (2021)

Forever and Ever (2021) ทุกชาติภพ กระดูกงดงาม ภาคปัจจุบัน #Romance   #Drama  Director: Shen Yang, Ben Fang/ Screenwriter: Mo Bao Fei Bao    ...