วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

Review: Atom's Last Shot (2022)

Atom's Last Shot (2022)

#Business #Drama Director: Yamamuro Daisuke, Okamoto Shingo, Tago Yoshiaki

รับชมได้ทาง Disney+
      ยูมิ โทมินากะ (Yukino Kishii) สาวพนักงานธนาคารที่ต้องปฏิเสธ ชิเกโอะ โทมินากะ (Morio Kazama) พ่อของตัวเองในการขอสินเชื่อ เมื่อธุรกิจโรงงานผลิตของเล่น ATOM ของคนเป็นพ่อไม่มีวี่แววมองเห็นอนาคต ซึ่ง ยูมิ คงไม่คิดมาก่อนว่าบริษัทของพ่อที่ดูไม่มีมูลค่า กลับได้ข้อเสนอจากซากาสบริษัทผู้สร้างเกมยักษ์ใหญ่ ในการเข้าซื้อทรัพย์สินของ ATOM แน่นอนว่าคนที่มีอุดมการ์อย่าง ชิเกโอะ ไม่ยอมปล่อยมือจากสิ่งที่รักง่าย ๆ แต่สุดท้ายเขาต้องสูญเสียทุกอย่างที่สร้างมาไปกับไฟทั้งหมดอยู่ดี ยูมิ ที่ทนเห็นความผิดหวังของพ่อไม่ได้จึงตัดสินใจขอพลิกฟื้น ATOM ให้กลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ ATOM จะลงสนามในฐานะผู้สร้างเกม

แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่าไม่มีใครมีความรู้เกี่ยวกับเกมเลย คนที่ ยูมิ พอจะนึกออกและคิดว่าน่าจะเป็นคนที่สร้างอิมแพคให้กับ ATOM ได้ คงจะเป็น จอน โด หรือ นายูตะ อาซุมิ (Kento Yamazaki) นักพัฒนาเกมที่ตัวตนเป็นความลับ ซึ่งหายหน้าไปจากวงการตั้งแต่สร้างเกมแรกและเกมเดียวของเขาได้สำเร็จ

ผลงานของพระเอกเคนโตะ ยามาซากิ ที่นำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นอย่างเกมและของเล่น โดยใช้ nostalgia ความคิดถึงอดีตมาเชื่อมโยงทั้งสองสิ่งไว้ด้วยกัน เมื่อมันเป็นยุคสมัยที่เกมหรือของเล่นเพื่อความบันเทิงมันออนไลน์ ต่างจากสมัยก่อนที่ความบันเทิงของผู้คนเป็นของเล่นที่จับต้องได้ โอเคว่ามันก็ไม่ได้หายไปหมดเสียทีเดียว แต่มันก็อยู่ในฐานะของสะสมในตู้มากกว่าของเล่น

ผมชอบไอเดียที่ซีรีส์ผูกสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันนะ คือผมก็ไม่รู้หรอกว่าวิธีการที่ตัวละครใช้ มันสามารถทำให้เกมประสบความสำเร็จได้หรือเปล่า แต่ในความเป็นเรื่องแต่งสมมติขึ้นมาแบบซีรีส์มันทำให้เราเชื่อได้ว่า เกมที่ตัวละครสร้างมันมีความพิเศษ ไอเดียแตกต่าง สามารถประสบความสำเร็จได้ ก่อนหน้านี้ผมก็เพิ่งได้ดู Unicorn ni Notte ที่เกี่ยวกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็นำเสนอได้มีไอเดียสร้างความน่าเชื่อถือให้เรื่องราวได้เหมือนกัน ผมว่าซีรีส์ญี่ปุ่นเขาใส่ใจรายละเอียดไม่ได้เล่าแบบผ่าน ๆ ขอไปที

นอกเหนือจากความเป็นเกมและการแข่งขันทางธุรกิจ ซีรีส์ยังจับประเด็นมุมมองลบต่อเกมของผู้ใหญ่มานำเสนออีกด้วย แล้วในประเด็นนี้เช่นกันเลยครับ ซีรีส์นำเสนอออกมาได้ดี เอาวิถีชีวิตจริงของคนในสังคมมาปรับเชื่อมเข้ากับเกม ให้มองเห็นแง่มุมมองด้านบวกที่เกมสามารถสร้างได้ แล้วยังทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาจากเกม มันนำไปต่อยอดปรับใช้ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นได้อีกมาก

การเล่าเรื่องของซีรีส์มีทั้งความสนุกและความน่าขัดใจปน ๆ กันไป ด้วยความที่ตัวละครเอก นายูตะ กับ ฮายาโตะ คู่หู จอนโด มีปมปัญหาขัดแย้งไม่เข้าใจกัน อุดมการณ์ที่ยึดถือวิธีการที่ใช้ก็ต่างกัน ตลอดทั้งเรื่องก็เลยเดี๋ยวดีกันเดี๋ยวแตกคอกันวนไป แล้วผมว่าน่าจะมีคนที่ขัดใจกับบทสรุปของตัวละคร อากิฮิโกะแห่งซากาส อยู่บ้างเหมือนกัน เอาจริงมันก็จบได้ลงตัวโอเคนั่นแหละ แต่ก็เพราะความลงตัวจนเหมือนง่ายเกินไปนี่แหละ มันเลยมีความแปร่ง ๆ อยู่สักนิด เอาจริงยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากเขียนถึง แต่ลังเล เลยคิดว่าถ้าลังเลก็เลือกไม่เขียนดีกว่า เพราะมันเป็นเรื่องทัศนคติ แนวความ ความเชื่อ ที่ไม่มีถูกผิด ส่วนตัวที่ลังเลก็เพราะก็ซื้อแนวคิดทั้งสองแบบตัดสินใจไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งตัวละคร นายูตะ เป็นคนตัดสินใจในเรื่องนั้น

หากต้องสรุปถึงซีรีส์ผมคงบอกว่าเป็นซีรีส์ขายไอเดียที่นำเสนอได้ดี โอเคและว่าคนนอกวงการอย่างเราก็ไม่รู้หรอกมันใช้ได้จริงหรือเปล่า แต่มันดูมีไอเดียจริง นำเสนอประเด็นที่น่าขบคิดอย่างเรื่องมุมมองของผู้ใหญ่กับเกม เรื่อง Open Source เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ ที่ผู้คนมีแนวความคิดเห็นด้วยไม่เห็นด้วยแตกต่างกัน

#SeriesReview #รีวิวซีรีส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: All of Us Are Dead (2022)

 All of Us Are Dead (2022) มัธยมซอมบี้ Screenwriter:  Chun Sung Il Director:  Lee Jae Gyoo       ซีรีส์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธ...