วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567

Review: Marry Me! (2020)

 Marry Me! (2020) ถ้าให้ดีมาแต่งงานกัน

#ปีนรั้วรีวิว #Romance
      ชิน อาคิยาสุ (โทชิกิ เซโตะ) หนุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กลายเป็นหนูทดลองของรัฐบาลในกฎหมายฉบับใหม่ ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น กฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อคุ้มครอง NEET กลุ่มคนที่วัน ๆ ไม่ทำอะไรเอาแต่เก็บตัวอยู่ในบ้าน ชิน ได้รับมอบหมายให้จับคู่กับผู้หญิงที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม ไม่ใช่ซิ ฮ่าฮ่า (ลงทะเบียนจนหลอน) เขาได้จับคู่กับหนึ่งในสาว NEET อาสาสมัครที่เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ แต่ทว่า ฮิมาริ ซาวาโมโตะ (รินกะ คุมาดะ) สาว NEET ที่กำลังจะกลายมาเป็นภรรยาของเขา ดันไม่เต็มใจจะเข้าร่วมโครงการซะแล้ว เพราะอันที่จริงมันเป็นความต้องการจากยายของเธอที่เพิ่งเสียชีวิตไป ไม่ใช่ความต้องการของเธอเอง

แต่อนาคตการทำงานของ ชิน มันแขวนอยู่บนความสำเร็จของโครงการนี้ เขาจึงคอยดูแลและพยายามสร้างมิตรภาพที่ดีกับ ฮิมาริ จนในที่สุด สาว NEET ที่ไม่สนใจใคร ก็ตัดสินใจยอมจดทะเบียนสมรสใช้ชีวิตคู่ร่วมกับเขา เพียงแต่ ชิน ที่มีปัญหาห่างเหินกับคนในครอบครัว กับ ฮิมาริ ผู้หญิงที่ไม่สนใจใครและเหลือเพียงตัวคนเดียว ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เริ่มจากความรักในครั้งนี้ ทั้งสองคนจะสามารถสร้างครอบครัวได้จริง ๆ หรือจะเป็นเพียงแค่ตัวอย่างการทดลองที่ไม่ได้มีความหมายอะไรต่อกันเลย

ซีรีส์ญี่ปุ่นแนวโรแมนติก คอมเมดี้ ที่พูดถึงการใช้ชีวิตร่วมกันและคำว่า “ครอบครัว” การดำเนินเรื่องของซีรีส์ผมเห็นว่ามันคล้ายกับการผ่านด่านทำ Mission ของสองตัวละครเอก แต่ละตอนซีรีส์จะใส่โจทย์เข้ามาให้ ชิน กับ ฮิมาริ ร่วมกันแก้ไข เช่นเรื่องราวหลังจากที่ทั้งสองคนแต่งงานกัน ซีรีส์ก็ใส่เรื่องราวของ วากะ โยชิอุระ (ฮารุมิ ซาโตะ) หัวหน้าของ ชิน ที่ครั้งหนึ่งทั้งสองคนเคยคบกันมาก่อน แล้วการเลิกลากันของทั้งสองคนมันสร้างปมความข้องใจไว้กับตัวละคร วากะ เนื้อหาในตอนนี้นอกจากจะไขข้อข้องใจให้กับตัวละคร วากะ แล้ว มันยังเป็นจุดเริ่มต้นในการหาคำตอบของคำถามที่ว่า ชิน แต่งงานกับ ฮิมาริ เพียงเพื่อรักษางานของตัวเองเอาไว้ หรือเขาจะสามารถพัฒนาความรู้สึกไปไกลกว่านี้ได้อีก

ก่อนที่ตอนต่อมาซีรีส์จะใส่ Mission ใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะปมความห่างเหินครอบครัวของ ชิน เรื่องความสัมพันธ์ที่มันคาบเกี่ยวกันระหว่างหน้าที่คู่รักทดลอง กับความเป็นครอบครัวที่เริ่มสร้างอย่างจริงจัง ประเด็นทางสังคมข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎหมายคุ้มครอง NEET ที่รัฐบาลออกมา ว่าปัญหาของคนกลุ่มนี้ควรได้รับการแก้ไขและดูแลจากรัฐหรือเปล่า รวมถึงอีกหนึ่งปมดราม่าที่สำคัญของ ฮิมาริ ที่เคยถูกทอดทิ้งให้อยู่กับยาย เธอจะสามารถลบลืมความทรงจำครอบครัวที่ไม่ดีเหล่านี้ออกไปได้หรือเปล่า

การดำเนินเรื่องของซีรีส์แม้จะมีปมดราม่าใส่เข้ามาแทบทุกตอน แต่ก็ค่อนข้างคลี่คลายได้ไวไม่ดึงหน่วงความรู้สึกผู้ชมไว้นาน คาแรคเตอร์ตัวละครมีปมดราม่าติดค้างในใจแทบทุกตัว แต่ซีรีส์ก็ออกแบบมาได้น่ารัก มีทัศนคติค่อนข้างไปในทางบวก ตอนดูเลยไม่มีความรู้สึกหม่นไปตามดราม่าของตัวละคร แล้วอีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดูง่ายไม่ซับซ้อน ก็คือความตรงไปตรงมาของตัวละครในเรื่อง พวกเขาซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง คิดยังไงก็พูดออกไปตามนั้น บทสนทนาของตัวละครมันเลยได้แง่คิดตามสไตล์ซีรีส์ญี่ปุ่นแบบย่อยง่าย ไม่ต้องตีลังกาคิดตีความอะไรมากมายให้ซับซ้อน

ภาพรวมของซีรีส์เลยดูง่าย ได้แง่คิด ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสามี ภรรยา และความเป็นครอบครัว แต่ส่วนที่ผมเสียดายก็คือ ซีรีส์อุส่าห์หยิบเอากลุ่มคนที่เป็น NEET มาใส่ในพล็อตแล้ว น่าจะขยายเรื่องราวในส่วนนี้เพิ่มอีกสักหน่อย เพราะตัวละคร ฮิมาริ หากไม่นับตอนต้นเรื่องในตอนแรกแล้ว หลังจากนั้นก็แทบไม่มีอะไรให้คนดูรู้สึกถึงความเป็น NEET ของเธอเลย แม้จะดูตื่นตาตื่นใจเวลาให้ออกมาภายนอก แต่ก็ค่อนข้างใช้ชีวิตกับผู้คนกับโลกภายนอกได้ด้วยซ้ำ ดูเหมือนเป็นแม่บ้านเต็มเวลามากกว่าจะเป็น NEET เสียอีกครับ

ในช่วงท้ายรีวิวผมขอสรุปถึงซีรีส์เรื่องนี้ว่า เป็นซีรีส์ที่โอเคว่าเรื่องราวมันอาจจะไม่ได้มีเนื้อหาอะไรมากนัก แต่ด้วยจำนวนเพียง 10 ตอน ตอนละ 20 นาที กับเรื่องราวประเด็นต่าง ๆ ที่ซีรีส์เล่ามันก็พอดีกัน สำหรับผมแล้วยังถือว่าเรื่องนี้ตอบโจทย์ได้ทั้งความบันเทิงและแง่คิด เหมาะสำหรับคนที่อยากดูอะไรเบา ๆ ไม่ดราม่าจัด ไม่ต้องชวนจิ้นฟุ้งฝัน แต่มีตัวละครที่น่ารักเป็นกันเองเหมือนมีคู่แต่งงานใหม่มาอยู่ข้างบ้านเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: All of Us Are Dead (2022)

 All of Us Are Dead (2022) มัธยมซอมบี้ Screenwriter:  Chun Sung Il Director:  Lee Jae Gyoo       ซีรีส์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธ...