วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566

Review: You're Not Normal, Either (2021)

You're Not Normal, Either (2021) เธอก็ไม่ปกติเช่นกัน

#Drama Director: Koji Maeda
      คาสุมิ อากิโมโตะ (Kaya Kiyohara) นักเรียนมัธยมปลายที่ตั้งข้อสงสัยต่อสังคมรอบตัวว่า ทำไมเพื่อน ๆ ของเธอถึงเอาแต่นินทาแล้วก็พูดเรื่องไร้สาระถึงคนอื่น ต่างจากผู้ชายในฝันของเธออย่าง ไอซาโอะ มิยาโมโตะ (Kotaro Koizumi) นักธุรกิจหนุ่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวยุคใหม่ แต่ผู้ฟังที่ไม่ดีอย่าง ยาสุโอมิ โอโนะ (Ryo Narita) ครูสอนพิเศษของเธอ ก็ดันเอาแต่ขัดคอแล้วก็ถามในเรื่องที่เธอตอบไม่ได้ จน คาสุมิ หลุดปากพูดออกมาว่าครู โอโนะ ที่หน้าตาดีแบบนี้ หากยังทำตัวไม่ปรกติต่อไปชาตินี้คงไม่ได้แต่งงาน นั่นเลยทำให้ โอโนะ ได้แต่สงสัยว่าตัวเองนั้นไม่ปรกติตรงไหน

ครูหนุ่มก็เลยขอร้องให้นักเรียนของตัวเองช่วยสอนการใช้ชีวิตปรกติ ซึ่ง โอโนะ ไม่ได้รู้มาก่อนเลยว่าตัวเองจะกลายเป็นเครื่องมือในแผนการล้มงานแต่งระหว่าง มิยาโมโตะ กับ มินาโกะ โทงาวะ (Rika Izumi) คู่หมั่นสาวสวย ที่ คาสุมิ ยุส่งให้ โอโนะ เลือกใช้เธอคนนี้มาเป็นคู่ซ้อมการออกเดตกับผู้หญิง

      หนังที่ผมขอให้คำจำกัดความสั้น ๆ ว่า "ถ้าความแน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน ความปรกติที่สุดก็คงเป็นความไม่ปรกติ" หนังสื่อใจความของตัวเองตั้งแต่แรกผ่านบทสนทนาระหว่าง คาสุมิกับเพื่อน และระหว่าง คาสุมิกับครูโอโนะ เลยว่า สิ่งที่คนเรามองว่าเป็นเรื่องปรกติ มันปรกติจริงไหม หรือคนเราแค่ทำมันบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปรกติ เป็น Norm หรือบรรทัดฐานของสังคม จนมองมันเป็นปรกติ ใคร ๆ ก็ทำกัน ส่วนคนที่ทำอะไรต่างจากนี้คือไม่ปรกติ

ทำไมบางเรื่องถึงบอกว่า "ปรกติเราจะไม่พูดเรื่องแบบนี้" ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติพื้นฐานที่จะทำให้เข้าใจกันง่ายขึ้น พอไม่สามารถพูดถึงได้ก็ทำให้ไม่เข้าใจกันอยู่อย่างนั้น หรือการที่เราต้องทำเรื่องฝืนความรู้สึกตัวเอง ซึ่งมันน่าจะเป็นเรื่องไม่ปรกติใช่ไหมครับ แต่มันกลายเป็นว่าการทำเรื่องที่ฝืนความรู้สึกนั้น มันจะทำให้เราดูปรกติดีในสายตาคนอื่นที่เป็นบรรทัดฐานสังคม แบบนี้ตกลงแล้วอะไรมันคือความปรกติหรือไม่ปรกติ

เกือบตลอดทั้งเรื่องคนดูจะได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่มัน Contrast แย้งกันอยู่ในที จะได้เห็น คาสุมิ ที่คิดว่าตัวเองปรกติ กลับไม่สามารถพูดคุยได้อย่างสะดวกใจกับเพื่อนที่คิดว่าปรกติเหมือนกันได้ เป็น โอโนะ เสียอีกที่เธอคิดว่าไม่ปรกติ แต่สามารถเปิดอกพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ กระทั่ง มินาโกะ ที่กลายมาเป็นคู่ซ้อมออกเดตของ โอโนะ ก็เป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจเมื่ออยู่กับเขา

จุดที่ช่วยย้ำใจความของหนังให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คงเป็นการตัดสินใจของ มินาโกะ ในช่วงท้าย ที่ต้องเลือกระหว่างความปรกติที่ชีวิตควรจะเป็น หรือความเป็นปรกติบนบรรทัดฐานสังคมหรือที่ใคร ๆ เขาทำกัน จนเกิดคำถามขึ้นกับ โอโนะ ว่าตกลงแล้วความปรกติมันคืออะไร ทำไมคนเราถึงไม่ทำเรื่องถูกต้องที่ควรเป็นเรื่องปรกติเพื่อมีความสุข กลับเลือกทำสิ่งสวนทางความรู้สึกเพื่อให้ดูว่าชีวิตปรกติ

หรือในพาทของ คาสุมิ ที่รู้สึกสับสนกำลังค้นหาตัวเองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมันเป็นเรื่องปรกติของช่วงชีวิตวัยรุ่น เธอพยายามมองหาคนที่จะมาชี้ทาง ซึ่ง มิยาโมโตะ กลายเป็นคนที่เธอค้นพบ แต่คำคมแรงบันดาลใจต่าง ๆ กลายเป็นเพียงภาพที่สร้างขึ้นมาเพื่อหาเงิน แน่นอนว่าสิ่งที่ มิยาโมโตะ ทำมันไม่น่าใช่เรื่องปรกติ ยังไม่นับอีกหลายอย่างที่เขาทำกับ คาสุมิและมินาโกะ

หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเล่าแบบใช้ตัวละครแกะดำ ที่เป็นปัจเจกบุคคลแบบ โอโนะ มานำเสนอ ในขณะเดียวกันหนังก็ใช้ตัวละครปัจเจกบุคคลคนเดียวนี้เอง ในการสะท้อนมุมกลับถึงแกะขาวที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม เมื่อมันไม่ได้หมายความว่าสิ่งต่าง ๆ ที่แกะขาวหมู่มากกำลังทำอยู่มันปรกติ แต่อาจเป็นสิ่งที่แกะดำทำอยู่เพียงตัวเดียวก็ได้ที่ปรกติ เพียงแค่ว่ามันไม่ใช่ Norm ของสังคมหมู่มากเท่านั้นเอง

ภาพรวมของหนังอาจไม่ได้ขายบันเทิงก็จริง แต่ถ้าจูนกันติดกับสิ่งที่หนังนำเสนอได้ ผมว่าหนังก็มีแง่มุมอะไรให้ขบคิดสนุกดีเหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นคนที่หัวขบถหรือมักคิดอะไรต่างจากคนทั่วไป ก็อาจจะบันเทิงกับหนังได้มากขึ้น ถ้าจะต้องสรุปถึงหนังผมคงจะบอกว่าเป็นหนังเฉพาะทาง ที่มีเสน่ห์แต่ไม่สนุกล่ะครับ ด้วยประเด็นที่หนังกล่าวถึงมันน่าสนใจ แต่ด้วยเนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ในหนังมันไม่ได้มีอะไรบันเทิง น่าติดตาม จุดสนใจมันจึงเป็นเรื่องของแง่คิด ใจความ ที่หนังพยายามสื่อสาร หรือหากจะให้หาเหตุผลไหนมาชวนดู ก็คงจะเป็น คายะ คิโยฮาระ ที่รับบท คาสุมิ นี่แหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: One In A Hundred Thousand (2020)

  One In A Hundred Thousand (2020) ใจดวงนี้แสนรักเธอ #ปีนรั้วรีวิว   #Drama   #Romance  Director: Koichiro Miki       ริโนะ ซากุรางิ (ไทระ ย...