วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

Cart 카트 Korean Movie (2014)

Cart 카트 Korean Movie (2014) รวมใจสู้ ก้าวสู่ฝัน
#ปีนรั้วรีวิว #Drama Director: Ji-young Boo

      ซุนฮี (Jung-ah Yum) พนักงานแคชเชียร์ประจำร้านเดอะมาร์ท เธอตั้งใจทำงานในทุกวัน เพื่อหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้า เธอจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำ ซึ่งจะทำให้เธอดูแลลูกทั้งสองคนได้ดีกว่าเดิม เธอยอมบริษัททุกอย่าง แม้กระทั่งการทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้โอที ตรงกันข้ามกับ ฮเยมี (Jung-hee Moon) เพื่อนพนักงานคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอจะปฏิเสธโอทีทุกครั้งเมื่อหมดเวลางานของเธอ และแล้ววันที่ ซุนฮี รอคอยก็มาถึง เมื่อผู้จัดการประกาศต่อหน้าพนักงานทุกคนว่า อีกไม่นานเธอก็จะได้รับการบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ เพื่อตอบแทนที่ทุ่มเทมาทั้งหม

      เพียงแต่คล้อยหลังข่าวดีได้ไม่กี่วัน ที่ประชุมผู้บริหาร กลับตัดสินใจขายกิจการให้บริษัทอื่น พวกเขาจึงตัดสินใจปลดพนักงานชั่วคราวออกทั้งหมด และจะจ้างพนักงาน out source มาแทนที่ นั่นเลยทำให้พนักงานชั่วคราวหญิงหลายคน โดนปลดฟ้าผ่าแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว รวมทั้ง ซุนฮี ที่ยังดีใจไม่ทันเสร็จ ก็จะกลายเป็นคนตกงานเสียแล้ว แม้จะกล้าๆกลัวๆก็ตาม แต่เมื่อทางบริษัทไม่ให้ความเป็นธรรม พวกเธอจึงรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อทวงความเป็นธรรมของตัวเองคืนมาให้ได้
      หนังที่บอกเล่าเรื่องราว การทำงานส่วนใหญ่ที่มีให้เราได้ดูทั่วไป มักจะบอกเล่าเรื่องราวของชนขั้นกลาง มนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศ แต่ที่เราแทบจะไม่เคยเห็นเลยก็คือ การบอกเล่าเรื่องราวของคนที่ใช้แรงในการทำงาน ซึ่ง Cart (2014) นี้ หยิบเอาเรื่องจริงในปี 2007 ของสาวพนักงานซุปเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้(ไปค้นมาแล้วแต่ไม่เอ่ยถึงชื่อแล้วกัน) ที่กิจการของบริษัท จำเป็นต้องเปลี่ยนมือเจ้าของ ทำให้ต้องยกเลิกสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวทั้งหมด ทำให้พวกเธอตัดสินใจสไตรค์หยุดงานประท้วง และชุมนุมหน้าซุปเปอร์มาเก็ตยาวนานถึง 512 วัน
      เราใช้เงินในการซื้อข้าวกิน เราจึงทำงานแลกเงินมา ฉะนั้นการทำงานของเรามันไม่ฟรีแน่ๆ และผลของค่าตอบแทน มันก็ต้องคุ้มค่ากับงานที่ทำด้วย เพียงแต่คนทำงานที่ขายแรงงานเป็นหลัก บางครั้งก็เปรียบเหมือนหมาล่าเนื้อนะ เวลาแข็งแรงดียังมีประโยชน์ก็เลี้ยงดูปูเสื่อกันดี แต่พอหมดประโยชน์หากไม่ถูกทิ้งขว้าง ก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อล่อเสียเอง

เหมือนกับ ซุนฮี แม่ของลูกๆ ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อาชีพของเธอกำลังจะก้าวหน้า แต่กลายเป็นว่าเมื่อบริษัทเปลี่ยนมือ นโยบายจึงเปลี่ยนไป หมาล่าเนื้ออย่างเธอแม้จะทำงานอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายเมื่อหมดประโยชน์ กลับถูกตัดหางปล่อยวัดไม่ได้รับในสิ่งที่ควรได้

      ในหนังเรื่องนี้เราจะได้เห็นการชิงจังหวะกัน ระหว่างผู้บริหารกับแกนนำของสหภาพแรงงาน ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมา ว่าใครจะทนแรงเสียดทานได้ดีกว่ากัน ซึ่งพูดตรงๆว่าใครที่สายป่านยาวกว่าย่อมชนะอยู่แล้ว โลกของความจริงมันไม่เหมือนโลกอุดมคติ ที่ธรรมะจะชนะอธรรมเสมอไป ทุกคนมีความจำเป็นในชีวิต ทุกคนต้องกินต้องใช้กันทั้งนั้น เพียงแต่หากปล่อยผ่านยอมแพ้ง่ายๆ ไม่รวมตัวลุกขึ้นสู้ ให้รู้ว่าคนตัวเล็กๆ เมื่อรวมกัน มันก็มีพลังเช่นกัน…ก็คงต้องแพ้พ่ายให้กับนายทุนตลอดไป
      หากเราไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกันกับผู้เรียกร้อง ยกตัวอย่างจากเรื่องจริงในสังคมทั่วไปเลย เวลาเราเห็นสหภาพแรงงานออกมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเรื่องค่าแรงหรือโบนัสก็ตาม บางครั้งเราอาจจะตั้งคำถามนะว่า ทำไมพวกเขาถึงออกมาเรียกร้อง ไม่กลัวนายทุนหนีกันหรือยังไง ซึ่งหนังเรื่องนี้แก้โจทย์ด้วยการให้ตัวละคร แทยัง (Kyung-soo Do) ลูกชายของ ซุนฮี ที่ไม่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกของแม่ตัวเอง

เมื่อเขาคิดว่ามันเป็นการหาเรื่องใส่ตัวในทีแรก ให้ได้เจอกับประสบการณ์เดียวกัน เมื่อไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ตัวเองควรได้ แง่นึงมันช่วยสะท้อนให้เข้าใจ ถึงหัวอกของกันและกันนะ หากเราไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกันนั้น บางทีก็อย่างเพิ่งด่วนตัดสินกันไปก่อน เมื่อความจำเป็นของคนเรามันต่างกัน

      หากจะให้สรุปแล้วล่ะก็ ส่วนตัวมองว่าหนังถ่ายทอดแง่มุมของการรวมตัวกันต่อสู้ได้ดีนะ และอย่างที่บอกไปวรรคบนว่า หนังตีโจทย์ในแง่ของการให้ความเข้าใจสถานะของผู้เรียกร้องได้ดี รวมทั้งยังยืนอยู่บนความจริงที่ว่า โลกมันไม่ได้สวยงาม เพราะความจำเป็นของแต่ละคน อาจทำให้ตัดสินใจอย่างเห็นแก่ตัวได้

แต่ในเรื่องของการถ่ายทอดความดราม่า ขยี้ความรู้สึก ความสะเทือนใจ ส่วนตัวยังคิดว่าหนังสร้างอิมแพคกับความรู้สึกได้ไม่ดี คล้ายๆกับเรื่อง Another Promise (2013) ที่ยังไม่กินใจเท่าไหร่ หรือจะเป็นเพราะว่า ด้วยตัวผมเองไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือนมานานแล้วด้วยหรือเปล่า เลยอาจจะไม่อินเท่าคนที่ทำงานอยู่ในจุดเดียวกันกับตัวละครจริงๆ

#MovieReview #รีวิวหนัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: #Alive (2020)

 #Alive (2020) คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ Screenwriter & Director:   Jo Il Hyung       ตั้งแต่ทั่วโลกได้รู้จักกับ Train to Busan ก็ต้องบอกว่า ไม...