วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Review: Ano koro, kimi wo oikaketa (2018)

 Ano koro, kimi wo oikaketa (2018) aka You Are the Apple of My Eye ครั้งหนึ่งคราวนั้นฉันเคยรักเธอ

#ปีนรั้วรีวิว #Romance Director: Yasuo Hasegawa
      มิซุชิมะ โคสุเกะ (Yûki Yamada) หนุ่มนักเกรียนชั้นมัธยมปลาย ที่ใช้ชีวิตผ่านไปวัน ๆไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิต แม้กระทั่งผมหยักศกของเขาทำมักให้มีปัญหากับครู เป็นที่เพ่งเล็งจนถูกทำโทษอยู่บ่อย ๆ เจ้าตัวก็ยังไม่เคยสนใจจะแก้ปัญหาอะไร จนในวันหนึ่งก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต จากเด็กนั่งหลังห้องแถมถูกลงโทษให้หันหน้าเข้ากำแพง มิซุชิมะ จำต้องย้ายโต๊ะมานั่งด้านหน้าของ มาอิ ฮายาเสะ (Asuka Saitô) ดาวโรงเรียนที่ทั้งน่ารักและเรียนเก่ง

แม้ในทีแรก ฮายะเสะ จะรู้สึกไม่ชอบใจกับความไร้เดียงสา ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวัน ๆ ของ โคสุเกะ แต่เธอก็เริ่มมองเห็นบางอย่างในตัวเขา พยายามเข็นครกขึ้นภูเขาด้วยการเป็นติวเตอร์ จนผลการเรียนของ โคสุเกะ ดีวันดีคืน ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ แม้ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนกัน แต่เพื่อน ๆ ต่างดูออกว่าทั้งสองคนรู้สึกต่อกันอย่างไร

เมื่อถึงวันจบการศึกษาที่เพื่อนทุกคน ต่างแยกย้ายกันไปตามความฝันของตัวเอง ก็ถึงวันที่ ฮายาเสะกับโคสุเกะ มีความจำเป็นต้องห่างกัน แล้วความสัมพันธ์ที่รู้สึกมากกว่าเพื่อน แต่ยังไม่ใช่แฟนแบบนี้มันจะไปต่อได้ไหม เมื่อ ฮายาเสะ เริ่มก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่อีกขั้น แต่ โคสุเกะ ยังไม่มีวี่แววจะก้าวไปทางไหนได้เลย
      หนังญี่ปุ่นรีเมคจากหนังไต้หวัน You Are the Apple of My Eye (2011) หนังรักย้อนวัยที่สร้างกระแสฮิตถล่มทลาย เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคนรวมถึงตัวผมเองด้วย กับเวอร์ชั่นญี่ปุ่นนี้หากมองในแง่มุม ความเป็นหนังรักย้อนวัยสักเรื่องไม่หยิบต้นฉบับมาเทียบ ถือว่าทำออกมาน่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเป็นหนังรีเมคย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะหยิบเอาต้นฉบับมาเปรียบเทียบ ซึ่งบอกได้เลยว่าต้นฉบับดีกว่ามากพอสมควรเลย

หนังฉบับญี่ปุ่นเปลี่ยนจากยุค 90s ของต้นฉบับมาเป็นยุค 2000s แต่ไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแบบนี้ มันเป็นผลดีกับหนังหรือเปล่า สาเหตุที่เปลี่ยนก็คงเพราะอยากให้ตอนจบของหนังเป็นยุคปัจจุบันนี้พอดี แต่ที่ต้นฉบับทำได้โดดเด่นและโดนใจใครหลายคน ส่วนหนึ่งก็เพราะกิมมิกของยุค 90s ไม่ว่าจะการต่อคิวตู้โทรศัพท์ เพื่อโทรหาคนรักหรืออื่น ๆ อีกมากมาย มันทำให้คนในยุค 90s ที่กลายเป็นคนวัยทำงานในตอนนี้ แล้วอยู่ในช่วงสร้างครอบครัว อาจเคยผ่านประสบการณ์การไปงานแต่งงานของรักแรก เข้าถึงหนังได้แบบที่ไม่ต้องบิ้วอารมณ์ร่วมให้มากเลย

แต่พอฉบับนี้เปลี่ยนมาเป็นยุค 2000s ส่วนตัวผมไม่รู้นะว่าหากเป็นที่ญี่ปุ่นแล้ว เขามีวัฒนธรรมอะไรเป็นกิมมิกหรือเปล่า แต่หากมองในบ้านเราเองเอาจริงก็นึกไม่ออกเหมือนกัน หากจะมีก็คงค่ายเพลงอย่างกามิกาเซ่หรือเปล่า ฮ่าฮ่า ในหนังฉบับนี้ที่พอจะเห็นก็แค่เพียง การเปลี่ยนจากโทรศัพท์แบบฝาพับมาเป็นสมาร์ทโฟน

สถานการณ์ต่าง ๆ ของตัวละครในฉบับญี่ปุ่น ก็ถอดแบบมาจากต้นฉบับเลย อาจจะมีบางตัวละครเปลี่ยนไปบ้าง แม้จะดูเป็นการเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยที่เปิดกว้างทางเพศ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นการเปลี่ยนที่เสียของ อย่างตัวละคร คาซุกิ สุกิมุระ (Ryosuke Yusa) หนุ่มอ้วนที่ฉบับก่อนหน้า เป็นหนึ่งคนที่หลงรักนางเอกแล้วได้สารภาพรัก แต่กับฉบับนี้เจ้าตัวถูกทำให้เปลี่ยนไป ยิ่งฉากสารภาพรักของตัวละครนี้ฉบับก่อนก็ทำไว้ดีมาก กับไดอะล็อกที่พูดว่า

"ถ้าฉันไม่ทำอะไรเลย พวกเธอไม่ช้าเร็วก็ต้องคืนดีกันแน่ๆใช่มั้ยล่ะ 
ขอโทษนะ ครั้งนี้ฉันจะใช้โอกาสนี้เพื่อจีบเธอ"


ใฉบับใหม่นี้ฉากที่ว่าเหมือนแค่ถูกใส่มาให้มีเหมือนต้นฉบับเท่านั้น แต่ไม่ได้สัมผัสอะไรกับความรู้สึกคนดูเลย พูดง่าย ๆ ว่าต้นฉบับยังค่อนข้างใส่ใจ อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครรอบข้างมากกว่า ส่วนฉบับนี้ดูละเลยไปพอสมควร

แต่ที่เห็นว่าบ่น ๆ นี่ก็ไม่ใช่ว่าหนังไม่สนุกหรืออะไรนะครับ เดี๋ยวจะพาลพาไม่อยากดูกัน นักแสดงของฉบับนี้เอาจริงถือว่าเลือกมาได้มีเสน่ห์ เหมาะกับตัวละครทุกคน การแสดงแม้จะมีเล่นใหญ่บ้างก็จริง แต่ก็หลุดจากความเป็นหนังรักไฮสคูลแบบที่เคยเห็นกันมาตามแบบฉบับญี่ปุ่น ซึ่งผมว่าการแสดงดูเป็นธรรมชาติ ไม่ได้แฟนตาซีเซอร์วิสโรแมนซ์ เหมือน Live-Action รัก โรแมนติก ไฮสคูล ที่เคยดูผ่านมา

ประเด็นต่าง ๆ ในหนังก็ยังพูดถึงเหมือนกันกับเรื่องของการก้าวพ้นวัย เมื่อในวัยเดียวกันผู้หญิงมักเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่า ขณะที่ผู้ชายบางคนยังไร้เดียงสา ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้หญิง ความรักครั้งแรกในวัยมัธยมจึงมักจะไปไม่รอด เพราะนอกจากต่างคนจะต่างแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเองแล้ว

ก็ตามที่หนังกล่าวเลยว่า มันคือความไม่มั่นใจว่า ความรู้สึกของผู้ชายที่ชอบฝ่ายหญิงนั้น มันเพราะเขามองภาพเธอในมุมมองที่ดีงามเป็นนางฟ้า แต่ความเป็นจริงเธออาจเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา ที่มีข้อเสียเหมือนกันซึ่งอีกฝ่ายอาจยังไม่เคยเห็น ส่วนผู้หญิงเองที่โตเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่านั้น ก็ไม่เข้าใจความไร้เดียงสาของผู้ชายบางคน มันเลยกลายเป็นโจทย์ที่ทั้งสองฝ่ายก้าวข้ามไปไม่ได้ แม้จะมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน

สรุปแล้ว Ano koro, kimi wo oikaketa (2018) aka You Are the Apple of My Eye ครั้งหนึ่งคราวนั้นฉันเคยรักเธอ หากเป็นคนที่ไม่เคยดูต้นฉบับไต้หวันมาก่อน อาจจะรู้สึกชอบฉบับญี่ปุ่นนี้ก็ได้ แม้จะดูว่าอีโมชั่นน้อยตามสไตล์หนังญี่ปุ่น แต่หนังเองก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะดำเนินตามต้นฉบับเกือบ 100% แต่คนเคยดูต้นฉบับมาก่อนอย่างผม ส่วนที่ดีที่สุดของหนังยกให้เพลงประกอบก็แล้วกัน ไพเราะแล้วก็บิ้วอารมณ์เข้ากับเรื่องราวได้ที่สุดแล้ว

ขอบคุณภาพประกอบจากภาพยนตร์: Ano koro, kimi wo oikaketa (2018)
 
ฝากช่องยูทูปรีวิวหนังช่องเล็ก ๆ ด้วยครับผม:  https://www.youtube.com/channel/UCo1Txn08XONf92m_kngztWQ 


#MovieReview #รีวิวหนัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: Dali & the Cocky Prince (2021)

 Dali & the Cocky Prince (2021) Director:  Lee Jung-Sub Writer:  Son Eun-Hye, Park Se-Eun       จินมูฮัก (Kim Min-Jae) ทายาทเจ้าของธุรกิ...