วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2562

Handmaiden (2016)

Handmaiden (2016) เล่ห์รักนักล้วง
#ปีนรั้วรีวิว #Drama #Romance #Thriller Director: Chan-wook Park

      เรื่องราวยุค 1930s ในเกาหลี ซุกฮี (Tae-ri Kim) สาวนักล้วงที่เป็นหนึ่งตัวละครในแผนการของ เคาท์ฟูจิวาระ (Jung-woo Ha) เศรษฐีกำมะลอที่ตัวตนจริงของเขาคือนักปลอมแปลง ซุกฮี ต้องรับหน้าที่เป็นสาวใช้คนใหม่ของ ท่านหญิงฮิเดโกะ เพื่อคอยเป่าหูและหาโอกาสให้ ฟูจิวาระ ได้เข้าใกล้และสานความสัมพันธ์ ทั้งหมดก็เพื่อทรัพย์สินและมรดกมากมายมหาศาลของเธอ
สาเหตุที่ทำให้ ฟูจิวาระ ต้องลำบากสร้างแผนการซับซ้อมมากมายขนาดนี้ นั่นก็เพราะ โคสุกิ ลุงเขยตาเฒ่าจอมลามกที่เลี้ยง ฮิเดโกะ มาตั้งแต่เด็กนั้น หวังจะเคลมหลานสะใภ้ของตัวเองด้วยเช่นกัน ซุกฮี จึงเป็นตัวกลางสำคัญ ที่จะทำให้แผนการของ ฟูจิวาระ นั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเธอ

เพียงแต่เรื่องราวมันซับซ้อนขึ้น เมื่อ ฮิเดโกะ เด็กสาวที่อยู่ในสายตาและโอวาทของลุงเขยมาตลอด กับสาวใช้อย่าง ซุกฮี กลับมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งเกินกว่านายกับสาวใช้ แผนการของ ฟูจิวาระ จึงไม่ใช่งานง่ายที่จะทำให้สำเร็จอีกแล้ว เมื่ออุปสรรคไม่ใช่แค่ลุงเขยอย่าง โคสุกิ แต่ตอนนี้ยังมีตัวแปลอย่าง ซุกฮี ที่อาจจะเปลี่ยนใจไม่ทำตามแผนการเดิมได้ทุกเมื่อ


***เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ***
**

      หนังสื่อสารให้เข้าใจได้นะว่า ทำไมตัวละครตัดสินใจในสิ่งต่างๆ ในแบบนั้นเมื่อถึงบทสรุป เรื่องของบทและการนำเสนอต้องยอมรับเลยว่าดีจริง ทั้งในแง่องค์ประกอบศิลป์ นักแสดง บรรยากาศในหนัง ความอึมครึม และการสร้างสถานการณ์ความไว้วางใจ ให้กับตัวละครและคนดูตายใจ จนถึงเวลาที่หนังเฉลยออกมาในองค์แรก ยอมรับว่ามีสตั๊นเหมือนกันว่าเฮ้ย…เป็นยังงี้ไปได้ยังไง แล้วมันจะไปทางไหนต่อล่ะเนี่ย ทีแรกก็ลังเลอยู่เหมือนกันนะ…ที่จะบอกว่าเรื่องนี้เป็นหนัง Feminist ดีหรือเปล่า

      คือถ้าบอกออกไปนั่นก็เหมือนกับ สปอยตอนจบเล็กๆแล้วว่าฝั่งไหนคือฝ่ายชนะ แต่คิดไปคิดมาก็หนังเองได้แรงบันดาลใจจากนิยาย “Fingersmith” (ของ Sarah Waters) ซึ่งคงเคยมีคนอ่านนิยายมาบ้าง (เคยมีมินิซีรี่ย์มาก่อนด้วยแล้วเหมือนกัน) แล้วก็หนังผ่านมาสองสามปีคนเขียนรีวิวบอกถึงประเด็นนี้กันไปเยอะแล้ว จะเขียนอีกครั้งมันคงไม่เป็นไร แล้วมันค่อนข้างเป็นประเด็นสำคัญในหนังด้วยนั่นแหละ คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะพอรู้เนื้อเรื่องกันหมดแล้ว

หากใครสังเกตที่โปสเตอร์ จะเห็นตำแหน่งมือของตัวละครได้ชัดเจนเลยว่า ตัวละครฝ่ายชายทั้ง โคสุกิและฟูจิวาระ นั้นกำลังกด ฮิเดโกะ เอาไว้ ส่วน ฮิเดโกะและซุกฮี นั้นกำลังกุมมือกันเอาไว้ ไม่ต่างจากเรื่องราวในหนัง เมื่อลุงเขยอย่าง โคสุกิ นั้นเลี้ยงหลานสะใภ้คนนี้เอาไว้ นอกจากเรื่องของสมบัติที่มีแล้ว ยังรวมถึงตัว ฮิเดโกะ เอง ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือบำเรอกามวิปริตของเขา และแขกผู้มาเยือนคฤหาสน์หลังนั้นอีกด้วย ส่วนบำเรอยังไงแบบไหนก็ไปดูเอาในหนังเองก็แล้วกัน

      ส่วน ฟูจิวาระ นั้นอาจจะไม่ได้กด ฮิเดโกะ ซะทีเดียว แม้จะมีความพยายามเอาเปรียบอยู่บ้าง แต่ ซุกฮี ที่ตกเป็นเครื่องมือของเขานี่แหละ จากตัวละครที่เราคิดว่าเธอน่าจะฉลาดรู้ทันคนในทีแรก แต่ในความเป็นจริงมันกลับตรงข้ามกับที่เราคิด ตัวละคร ฟูจิวาระ เอาจริงก็เหมือนผู้ชายทั่วไปนั่นแหละ ถึงแม้จะทะเยอทะยานแค่ไหน แต่หากยังไม่หลุดบ่วงกามอารมณ์ สุดท้ายจากเกมที่หมากของตัวเองกำลังได้เปรียบอยู่ กลับต้องมาสติแตกโดนกินเรียบหมดกระดานเสียสมาธิเพราะผู้หญิง
      หนังเรื่องนี้เหมือนเอาแนวความคิดแบบ Feminist ในยุคสมัยใหม่ ใส่ลงไปในความคิดของผู้หญิงยุคเก่าที่ถูกกดทับเอาไว้ ด้วยการเป็นเพียงเครื่องมือทางเพศเท่านั้น ไม่ว่าจะน้าของฮิเดโกะ ตัวของฮิเดโกะเอง ซุกฮี แม่บ้านซาซากิ หรือกระทั่งหญิงรับใช้คนเก่าของฮิเดโกะ ทุกคนต่างถูกกดทับเอาไว้โดยอำนาจของผู้ชาย และถูกใช้เป็นเครื่องมือสนองความใคร่เมื่อพวกเขาต้องการ ในตอนท้ายเราจึงได้เห็นภาพการปลดแอกเป็นอิสระของตัวละคร ทำลายสัญลักษณ์สิ่งตอกย้ำ ค่านิยมกดขี่ทางเพศเหล่านั้นทิ้งไปเสีย
      หากให้เรียงลำดับความชอบหนังของ ปาร์คชานวุค ของผมเองที่เคยดูคงจะเป็น 1. Sympathy for Mr. Vengeance (2002) 2. OldBoy (2003) 3. Handmaiden (2016) 4. Sympathy for Lady Vengeance (2005) จริงๆ Joint Security Area (2000) ก็เคยดูแต่นานมากจนจำความรู้สึกไม่ได้แล้ว ถ้าดูซ้ำอีกเมื่อไหร่อันดับก็อาจจะมีเปลี่ยนแปลงได้อีกครั้ง

      สรุปแล้ว Handmaiden (2016) เล่ห์รักนักล้วง เป็นหนังที่ดีงามโดดเด่นในแง่การนำเสนอเรื่องราวและองค์ประกอบงานศิลป์นะ ดีงามจริงๆ และแอบให้อารมณ์เหมือนละครเวที ด้วยเหมือนกันนะในบางฉาก แต่ถ้าใครจะหวังดูหนังอารมณ์อีโรติกหรือความเซ็กซี่ ถึงจะมีก็จริงแต่ไม่น่าจะตอบโจทย์แน่ๆ แต่หากเป็นสาวๆที่ชอบหนังหญิงรักหญิง หรือโชว์พลังหญิงความเป็น Feminist ก็น่าจะรักหนังเรื่องนี้ได้ไม่ยาก
 
ขอบคุณเครดิตรูปภาพจากภาพยนตร์ Handmaiden (2016) 

#MovieReview #รีวิวหนัง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: #Alive (2020)

 #Alive (2020) คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ Screenwriter & Director:   Jo Il Hyung       ตั้งแต่ทั่วโลกได้รู้จักกับ Train to Busan ก็ต้องบอกว่า ไม...