วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562

1987: When the Day Comes (2017)

1987: When the Day Comes (2017)
#ปีนรั้วรีวิว #Drama Director: Joon-Hwan Jang

      ในปี 1987 นักศึกษามหาลัยที่ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย พัคจองชอล (Jin-gu Yeo) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปสอบสวนและทรมานเค้นข้อมูล เพื่อหาตัว คิมจองนัม (Kyung-gu Sol) ผู้นำการเคลื่อนไหวของกลุ่ม แต่ว่า พัคจองซอล เสียชีวิตจากการถูกทรมาน

พัคซอวอน (Yoon-Seok Kim) ผอ.สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นคนสั่งดำเนินการเรื่องนี้ จำต้องทำให้การตายของ พัคจองซอล เป็นเรื่องเงียบที่สุดและหายไปกับสายลม แต่ว่า อัยการชเวฮวาน (Jung-woo Ha) กลับไม่ยอมเซ็นเอกสารรับรองการสอบสวนการเสียชีวิต เพราะเขาไม่ต้องการลัดขั้นตอนจนความซวยอาจจะตกมาสู่ตัวเองในอนาคต


      เมื่อศพของ พัคจองซอล ยังไม่ถูกเผาไม่เพียงแต่กลิ่นศพเท่านั้นที่เริ่มฟุ้ง แต่ข่าวการตายของนักศึกษา ขณะถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนและควบคุมตัว เริ่มแพร่กระจายไปถึงหูนักข่าวและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนอื่น ผอ.พัคซอวอน จึงต้องพยายามทำทุกทาง เพื่อปกปิดข้อมูลการเสียชีวิตที่แท้จริงของ พัคจองซอล ให้ได้ ก่อนที่ทุกอย่างมันจะบานปลายกลายเป็นเรื่องที่มันใหญ่เกินตัวของเขา

หนังอ้างอิงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในปี 1987 ที่เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของ ประธานาธิบดี นายพลชอนดูฮวาน เท่าที่เคยดูหนังการเมืองของเกาหลีมา ปัญหาการเมืองของเขาก็ยาวนานไม่น้อยเหมือนกันนะ ไม่ใช่แค่หลักสิบปีแต่น่าจะถึงยี่สิบปีกว่า ที่ประเทศจะผ่านพ้นปัญหามาได้ เอาแค่หนังที่เกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในกวังจู นี่ก็มีทำออกมาหลายเรื่องมาก ๆ

      1987: When the Day Comes (2017) เรื่องนี้เล่าเรื่องราวหลังจากเหตุการณ์ในกวังจูจบลงไปแล้ว (ในหนังมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในกวังจู ในแง่มุมการสร้างแนวร่วมและโน้มน้าวใจ เพื่อเชิญชวนนักศึกษามาเข้าร่วมชุมนุม) เพียงแต่มันกลับทำให้อุดมการณ์ร่วมกัน ของประชาชนมันยิ่งแกร่งมากขึ้น เมื่อพวกเขาไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ อำนาจรัฐสามารถสังหารหมู่หรือควบคุมตัวใครไปทรมานแล้วฆ่าเมื่อไหร่ก็ได้

หนังเรื่องนี้ขณะดูภาพของตัวละคร แบ่งแยกขาวดำอย่างชัดเจน แม้ว่าลึก ๆ แล้วตัวละครที่ทำสิ่งไม่ดีจะมีเหตุผลการทำสิ่งต่าง ๆ จากผลกระทบของแนวคิดทางการเมืองก็ตาม ส่วนตัวละครฝั่งขาวแทบทุกคน น่าจะเรียกได้ว่าเป็นภาพในอุดมคติแทบทั้งนั้น อัยการอย่าง ชเวฮวาน ที่เป็นผู้รักษากฎหมาย ก็กล้ายืนกรานในความคิดของตัวเอง ไม่กลัวอำนาจอิทธิพลจากเบื้องบน

      นักข่าวจากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่เหยี่ยวข่าวตรวจการทำงานของรัฐอย่างแข็งขัน ยิ่งกับเหล่านักศึกษาปัญญาชน เรียกได้ว่าอยู่ในยุคอุดมการณ์ที่เบ่งบาน กล้าก้าวออกมาทำสิ่งที่เชื่อและคิดว่าจะนำพาประชาชนและประเทศไปในทางที่ถูกต้อง นอกจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นประเด็นหลักแล้ว หนังยังมีเรื่องเล็ก ๆ ปมของตัวละคร ที่ส่วนตัวชอบประเด็นนี้เหมือนกันนะ เมื่อหนังตั้งคำถามถึงการออกไปร่วมชุมนุมประท้วง ว่ามันจำเป็นแค่ไหน คนที่ออกไปชุมนุมได้นึกถึงครอบครัว และคนที่อยู่ข้างหลังบ้างหรือเปล่า ซึ่งประเด็นนี้หนังมีคำตอบให้ผ่านตัวละคร ยอนฮี (Tae-ri Kim) นักศึกษาที่ครอบครัวเคยได้รับผลกระทบ จากการที่คนในครอบครัวออกไปชุมนุมเรียกร้องมาก่อน
      อีกปมของตัวละคร ผอ.พัคซอวอน ที่ได้รับหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย และทุกอย่างที่เขาทำเขาอ้างว่าทั้งหมดมันก็เพื่อชาติ พัคซอวอน ชายที่เกลียดพวก คอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุผลบางอย่างและเขาก็ได้รับคำสั่งให้จัดการกับคนกลุ่มนั้น ทว่าเขาทำในสิ่งตรงกันข้าม เขากลับไล่ล่าขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน และยัดเยียดให้พวกนั้นกลายเป็นคอมมิวนิสต์แทน 
 
หนังเรื่องนี้แบ่งได้เป็นสองช่วงหลักก็คือ ครึ่งแรกของหนังจะเล่าในแง่มุมการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อหาทางกลบเกลื่อนการตายของ พัคจองซอล ส่วนครึ่งหลังหนังสลับมาที่การเล่าเรื่องราวหลังจากข่าวการตายของ พัคจองซอล แพร่สะพัดไปทั่ว และเกิดความสับสนไม่ไว้ใจในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐ การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทั้งสื่อมวลชน ภาคประชาชนและกลุ่มที่ดำเนินการต่อสู้ในเชิงลึก
      ครึ่งแรกของหนังสนุก บันเทิง ในแง่มุมของความเป็นหนัง ระทึกขวัญ ชิงไหวชิงพริบ ส่วนครึ่งหลังหนังเน้นสร้างอิมแพ็คอารมณ์ร่วมกับคนดู ที่ถึงแม้จะไม่ได้ลงลึกรายละเอียดปูมหลังของแต่ละตัวละครมากนัก แต่หนังก็ทำได้ถึงแล้วมันก็สัมผัสความรู้สึกคนดูได้จริง ๆ ตอนดูนี่มีฮึกเหิม มีอินน้ำตาคลอเหมือนกันนะ ฮ่าฮ่า ด้วยความที่มันใกล้ตัวด้วยแหละเหตุการณ์ต่าง ๆ ในบ้านเขา พูดกันตรง ๆ มันก็เกิดขึ้นคล้าย ๆ กับบ้านเรา ในการที่รัฐต้องมาปะทะกับประชาชนหรือประชาชนต้องมาปะทะกันเอง

หลังจากที่ดูหนังเรื่องนี้จบสิ่งที่เสียดายก็คือ ช่วงชีวิตนี้จะมีโอกาสได้ดูหนังไทยที่กล้าบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์แบบนี้ไหม ตั้งแต่เด็กจนโตก็ผ่านมาหลายเหตุการณ์ แต่ละกลุ่มคนก็มีมุมมองต่อเหตุการณ์แตกต่างกันไป สิ่งที่ประวัติศาสตร์จารึกเอาไว้ เราจะรู้ได้ยังไงว่าใครจริงใครเท็จ เมื่อเราไม่มีหลักฐานร่วมสักอย่าง ที่คนทั้งชาติยอมรับร่วมกันอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งหากมันมีเมื่อไหร่ก็เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งที่มีมานาน มันก็น่าจะได้ข้อยุติจริง ๆ ไม่ต้องมาทะเลาะกันอย่างทุกวันนี้

      สรุปแล้ว 1987: When the Day Comes (2017) อาจจะเป็นรีวิวที่น้ำเยอะกว่าเนื้อไปสักหน่อย ด้วยความที่เรื่องราวมันเป็นประวัติศาสตร์บ้านเมืองอื่นเขา แล้วผมก็ไม่ได้เป็นกูรูการเมือง เลยไม่ได้ลงไปแตะอะไรที่เป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มากนัก หากจะพูดในความเป็นหนังคงบอกได้ว่า สนุก เข้มข้นมาก เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่หนังปูมามันสร้างความรู้สึกร่วมได้ดีจริง เรียกว่าเป็นอีกหนังการเมืองที่ใครชอบแนวนี้ไม่ควรพลาดอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน
 
ฝากช่องยูทูปรีวิวหนังช่องเล็ก ๆ ด้วยครับผม:  https://www.youtube.com/channel/UCo1Txn08XONf92m_kngztWQ 

ขอขอบคุณเครดิตรูปภาพจากภาพยนตร์ : 1987: When the Day Comes (2017)

#MovieReview #รีวิวหนัง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: Dreaming Back to the Qing Dynasty (2019)

Dreaming Back to the Qing Dynasty (2019) ฝันคืนสู่ต้าชิง #Drama   #Romance Director: Lee Kwok Lap, Wai Hong Chui, Chen Shu Liang Screenwrite...