วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

PAPA, CAN YOU HEAR ME SING (1983)

PAPA, CAN YOU HEAR ME SING (1983) พ่อจ๋าอย่าร้องไห้
#ปีนรั้วรีวิว #Drama Director: Kan Ping Yu

      สาเหตุที่ตัดสินใจดูหนังเรื่องนี้ก็เพราะว่าเพิ่งทราบข่าวของ ซุนเยว่ นักแสดงนำของหนังเรื่องนี้ เสียชีวิตลงด้วยวัย 87 ปีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา โดยเขารับบทพ่อผู้เป็นใบ้ ซึ่งมีอาชีพเก็บขวดขายเพื่อเลี้ยงลูกสาวที่เขาเก็บเอามาเลี้ยงข้างถนน
      ลุงใบ้ ที่อาศัยอยู่กับเมียในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในไต้หวัน แกมีอาชีพเก็บขวดขายซึ่งมันก็พอกับการเลี้ยงดูตัวเองและเมียอย่างจำกัดจำเขี่ยอยู่แล้ว ในวันหนึ่งที่ ลุงใบ้ ออกไปเก็บขวดก็ได้เจอกับ อามี่ เด็กน้อยวัยเพียงสองเดือนที่ถูกนำมาทิ้งเอาไว้ เขาเลยตัดสินใจหอบหิ้วเอา อามี่ กลับบ้านมาด้วย ซึ่งการเพิ่มเด็กเข้ามาอีกคน  มันเลยกลายเป็นภาระที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ ลุงใบ้ มีปัญหากับเมียจนต้องเลิกกั
      จากนั้นเป็นต้นมา ลุงใบ้ เลี้ยงดู อามี่ ด้วยความรักมาตลอด  แม้จะผ่านเรื่องราวความลำบากในชีวิตมากมายแค่ไหนก็ตาม และ อามี่ เองก็รัก ลุงใบ้ เหมือนพ่อแท้ๆของตัวเอง  แม้เธอมักจะถูกเพื่อนๆในโรงเรียนล้อเรื่องพ่อที่เก็บขวดขายเลี้ยงเธอมาก็ตาม  กระทั่งตอนที่ อามี่ โตเป็นสาวสวยและมีความสามารถในการร้องเพลง  จนไปเข้าตานักแต่งเพลงอย่าง ฉีชุนเหม่ย ที่ชักชวน อามี่ มาร่วมงานด้วยกัน แต่สุดท้ายทั้งสองคนก็ทำงานด้วยกันได้ไม่นาน  เมื่อมีค่ายเพลงเสนองานเดี่ยวให้กับ อามี่ ซึ่งเธอก็ไม่ปฏิเสธโอกาสได้และคว้ามันเอาไว้  ทว่า อามี่ ต้องแลกชื่อเสียงเงินทองที่ได้มากับการลบตัวตนของเธอในอดีตและใช้ชีวิตเป็นคนใหม่  ที่จะทำให้เธอไม่สามารถเจอพ่อและคนที่รักเธอได้เหมือนเดิม แม้จะอยากเจอแค่ไหนก็ตาม
      เป็นหนังดราม่าที่ไม่รู้ว่าจะเรียกเมโลดราม่าได้ไหม เมื่อเสียงแตรที่เป็นซาวน์ประกอบในหนัง  แม้เสียงมันจะไม่ได้นุ่มนวลเหมือนเครื่องดนตรีอื่น  แต่พอหนังใช้ได้ถูกจังหวะมันก็บิ้วอารมณ์คนดูได้อยู่เหมือนกันนะ  ครึ่งแรกของหนังเองอาจจะไม่ได้มีฉากเศร้าเรียกน้ำตาอะไร  แต่พอผ่านครึ่งทางเท่านั้นแหละ  หนังมีฉากสะเทือนใจอยู่หลายซีนเหมือนกัน  ทั้งซีนเรียกน้ำตาระหว่างคนด้วยกันเองและยังมีฉากสะเทือนใจระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขอีกด้วย
      นอกจากซาวน์ประกอบเสียงแตรที่ว่าแล้ว เพลงประกอบในเรื่องที่ตัวละคร อามี่ ร้องก็ยังเธอเป็นสิ่งดีงามอีกอย่างหนึ่ง  คือแม้นท้วงทำนองมันอาจจะไม่ทันสมัยเหมือนเพลงในปัจจุบันนี้ก็ตาม  แต่เมื่อเราได้ฟังมันก็ยังไพเราะและสื่อสารความรู้สึกได้  แม้เราจะไม่เข้าใจความหมายของเพลงก็ตาม  หากที่กล่าวมาในข้างต้นจะเป็นข้อดีของหนัง  อย่างหนึ่งที่มันไม่ใช่ข้อเสียหรือข้อด้อยหรอก  แต่มันเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้มันตั้งแต่ปี 1983 แล้ว จังหวะการลำดับภาพการตัดต่อ  มันอาจจะทำให้อารมณ์คนดูไม่ลื่นไหลต่อเนื่องเหมือนหนังในปัจจุบัน  แต่ถึงกระนั้นด้วยภาพเนื้อหาและดนตรีประกอบของหนัง  มันก็ยังเพียงพอที่จะทำให้เราคล้อยตามไปได้อยู่ดี
      เรื่องราวในหนังเอาจริงๆจะว่าไปก็มีเนื้อหาทำนองเดียวกับละครไทยเหมือนกัน  ในการที่มีคนนำเด็กไปทิ้งแล้วก็มีคนเก็บเอาเด็กไปเลี้ยง  เพียงแต่ว่าในละครไทยมักจะเป็นการเอาไปวางทิ้งไว้หน้าบ้านให้คนรวยรับเอาไปเลี้ยงซะส่วนใหญ่ 555  ส่วนในเรื่องนี้กลายเป็นการที่เด็กถูกเก็บเอาไปเลี้ยงโดยคนที่มีอาชีพเก็บขวดขาย  หนังเองสร้างความรู้สึกสะเทือนใจร่วมกับตัวละครให้กับคนดูได้ในหลายฉาก  ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ ลุงใบ้ ขี่ซาเล้งมาส่ง อามี่ ที่โรงเรียนแล้วเธอโดนเพื่อนๆล้อเรื่องพ่อ  หรือตอนที่พ่อไปหาเธอในงานเลี้ยงแต่กลับโดนผู้จัดการไล่กลับ  โดยที่ อามี่ ได้แค่ยืนตัวแข็งทำอะไรไม่ถูก ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆมันบิ้วคนดูมาจนถึงในตอนจบ  ที่ทุกอย่างมันสายเกินไปที่จะทำอะไรให้กันได้แล้ว
      หนังเองก็ไม่ได้สร้างให้ตัวละคร อามี่ เป็นคนผิดหรือไม่ดีหรอกนะ ตอนที่ดูเราก็รู้ได้ทุกขณะว่า อามี่ เธอรักพ่อและทุกคนที่อยู่รายล้อมเธอ  แต่ก็ด้วยความคิดที่ว่าอยากให้พ่อสบายกว่าที่ผ่านมา  รวมทั้งความฝันในวัยเด็กและโอกาสที่เธอได้รับ  มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสลัดทิ้งไป  จริงแล้วไม่ว่าจะตัวละคร ลุงใบ้ หรือ ฉีชุนเหม่ย  ก็ไม่เคยคิดที่จะให้ อามี่ ต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อกลับมาเป็น อามี่ คนเดิม เพียงแต่ความโชคร้ายมันก็ไม่ได้รอเมื่อเราพร้อมที่จะรับมือกับมัน  ทำให้อะไรๆมันเลยสายเกินไปที่จะทำให้คนที่รักเราได้เห็นถึงความรักที่ตัวเราเองก็มีล้นหัวใจเช่นกัน
      สรุปแล้ว PAPA, CAN YOU HEAR ME SING (1983) พ่อจ๋าอย่าร้องไห้ เป็นหนังเก่าที่ยังสามารถดึงความรู้สึกร่วมของคนดูได้ดีอยู่นะ เพียงแต่ต้องเข้าใจอย่างนึงว่ามันอาจจะไม่ลื่นไหลเหมือนหนังในปัจจุบัน ส่วนตัวแล้วเห็นว่าหนังทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้  ในการสร้างความสะเทือนใจให้กับคนดู  ที่เราจะต้องน้ำตาคลอแทบจะตลอดทั้งเรื่อง

#MovieReview #รีวิวหนัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: #Alive (2020)

 #Alive (2020) คนเป็นฝ่านรกซอมบี้ Screenwriter & Director:   Jo Il Hyung       ตั้งแต่ทั่วโลกได้รู้จักกับ Train to Busan ก็ต้องบอกว่า ไม...