วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

Confession of Murder (2012)

Confession of Murder (2012) คำสารภาพของฆาตกร
#ปีนรั้วรีวิว #Thriller #Action
      หลังจาก Memories of Murder (2003) เรื่องนี้ก็หนังอีกหนึ่งเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง Hwaseong serial murder case ที่มีหญิงสาวถูกฆาตกรรมในคืนฝนตกนับสิบราย ซึ่งคดีความหมดอายุลงในปี 2006 และยังไม่สามารถจับคนผิดมาลงโทษได้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ได้หยิบไอเดียในเรื่องอายุความของคดีมาขยายต่อ ส่วนหนึ่งก็เหมือนเป็นการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการหมดอายุความของคดีความด้วย

      นักสืบ ชอย ฮยองกู ที่ในอดีตเคยทำคดี ฆาตกรรมต่อเนื่องผู้หญิง 10 รายและยังไม่สามารถจับคนร้ายได้ แม้แต่ในครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกันคนร้ายก็ยังฝากรอยแผลเป็นของที่ระลึกก่อนจากไว้บนใบหน้า เพื่อตอกย้ำ นักสืบชอย ที่ไม่สามารถจับตัวเองไปรับโทษได้


      เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2006 ที่อายุความของคดีสิ้นสุดลง   จู่ๆก็มีเรื่องราวให้ผู้คนประหลาดใจเมื่อ ลีดูซุก หนุ่มน่าตาดีคนนึงประกาศว่าตนเองคือฆาตกรต่อเนื่องในอดีต และตอนนี้ก็ยังเขียนหนังสือออกมาขายบอกเล่าถึงรายละเอียดการก่อคดี และขอโทษในสิ่งที่เคยก่อขึ้นในอดีต หลังจากจบการแถลงข่าวเปิดตั

      ก็เกิดเป็นกระแสฟีเวอร์ไปทั้งประเทศหนังสือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สาวๆคลั้งไคล้หลงใหลฆาตกรที่หน้าหล่อเหลามีคนเป็นแฟนคลับ เข้าคิวต่อแถวขอลายเซ็นมากมาย แต่อีกฝากหนึ่งเหล่าครอบครัวของเหยื่อในอดีตเมื่อมีคนออกมาสารภาพว่าตนเองคือฆาตกร ก็เริ่มวางแผนการที่จะจัดการล้างแค้นให้สาสมกับความแค้นในอดีตที่พวกเขารอมาแสนนาน

      ตอนที่ดูครั้งแรกกลายปีก่อนตอนนั้นไม่ทราบข้อมูลมาก่อนว่าตัวหนังเกี่ยวข้องกับคดีต่อเนื่องในเมือง ฮวาซอง อันโด่งดังของเกาหลี มารู้ตอนที่ได้ดู Memories of Murder นี่แหละเพราะต้องหาข้อมูลมารีวิว ก็เลยทำให้การดูครั้งนี้ปะติดปะต่อเข้าใจประเด็นต่างๆภายในหนังมากขึ้น

      พูดในแง่การเอาไอเดียเหตุการณ์จากคดีความมาขยายต่อค่อนข้างชอบเลยนะ เพราะมันไม่ใช่แค่การนำเสนอเหตุการณ์ฆาตกรรมหรือการสืบสวนแบบที่หนังทั่วๆไปทำกัน แต่เป็นการแตกประเด็นยกเรื่องการหมดอายุความของคดีมาพูดถึง(แต่ก่อนอายุความของคดีอยู่ที่ 15 ปี ปัจจุบันไม่ทราบว่าขยายแล้วหรือยัง แต่ในหนังบอกว่าขยายเป็น 25 ปีในตอนจบ) 

      ซึ่งหนังใช้ลูกเล่นนี้ในการให้คนร้ายเผยตัวตนออกมา ก็ดูเป็นไอเดียที่ดีนะถึงด้านแอคชั่นในหนังมันจะดู surreal ไปหน่อยก็เถอะ ไม่ว่าจะฉากไล่ล่าบนถนนที่เวอร์วัง ความอึดถึกของคนร้าย หรือหลายๆฉากนึกว่าหลุดมาจากหนัง บอลลิวู้ดของอินเดีย

      และยังเหมือนเป็นหนังที่สะท้อนความรู้สึกของครอบครัวเหยื่อโดยตรง เพียงแต่ไม่ได้ขยี้หรือยัดเยียดจนเกินไปประเด็นนี้เลยอาจจะเบากว่าความบันเทิงที่สื่อออกมาจากหนัง แต่ถ้าดูจนจบจะรู้เลยว่าสำหรับครอบครัวเหยื่อแล้ว นานเท่าไหร่ก็รอได้ขอเพียงแค่ให้คนทำผิดได้ชดใช้ในสิ่งที่ตัวเองกระทำ ถึงแม้ในวันที่คดีหมดอายุความกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ แต่กฎแห่งกรรมที่จะพิพากษาด้วยตัวเองมันจะยังคงดำเนินต่อไป

      อีกส่วนนึงที่ดูเผลอๆจะโดดเด่นกว่าประเด็นที่กล่าวไปด้านบนก็คือ เรื่องของการที่ผู้คนให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตา ความคลั่งไคล้ในรูปลักษณ์ของผู้คนในสังคมนี้แหละ อย่างในหนังเมื่อ ลีดูซุก ปรากฏตัวออกมาสู่สาธารณะกลับกลายเป็นว่าด้วยหน้าตาที่หล่อเหลาเขาก็กลายเป็นที่สนใจของสื่อและสังคมได้ไม่ยาก โดยบางคนไม่สนด้วยซ้ำว่าเขาเคยทำอะไรมาก่อน หรือร้ายกว่านั้นบางคนกลับชอบหลงใหลที่คนอย่าง ลีดูซุก เป็นฆาตกรด้วยซ้ำ

      มันก็เป็นการแอบเหน็บแนมสังคมที่วัดกันที่รูปร่างหน้าตาสังคมนิยมคนดังแบบอ้อมๆนะ คือไม่ว่าคุณจะโด่งดังจากเรื่องอะไรดีหรือร้ายคนบางกลุ่มในสังคมก็พร้อมที่จะสนับสนุนคุณอย่างไม่สนใจอะไร เอาจริงเรื่องทำนองนี้ก็ไม่ใช่ว่าเห็นแค่ในหนังเรื่องนี้นะ ในบ้านเราเองก็มีให้เห็นกันอยู่เนืองๆในยุคโซเชี่ยล ที่วันดีคืนดีคนมีอดีตและปัจจุบันทั้งหลายจู่ๆก็กลายมาเป็นเน็ตไอดอล กันง่ายๆซะอย่างงั้น

      สรุปแล้วถ้าว่ากันตามเนื้อหาที่หนังพยายามสื่อก็เป็นหนังที่มีสาระแก่นสารดีๆมากมายแม้จะไม่ได้ขับเน้นออกมามากนัก อาจจะมีความ surreal ไปบ้างเพื่อให้หนังสนุก แต่สารต่างๆที่หนังพยายามสื่อก็ยังครบถ้วนในใจความของมัน

#MovieReview #รีวิวหนัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: All of Us Are Dead (2022)

 All of Us Are Dead (2022) มัธยมซอมบี้ Screenwriter:  Chun Sung Il Director:  Lee Jae Gyoo       ซีรีส์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธ...