วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Tokyo Ghoul (2017)

Tokyo Ghoul (2017) คนพันธุ์กูล
#ปีนรั้วรีวิว #Action #Drama #Horror
      หากจะบอกว่ามนุษย์เราน่าจะอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารคงเพราะสติปัญญาที่มี ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงกลไกลทางธรรมชาติ สร้างเครื่องมือทุ่นแรงต่างๆเพื่อให้ตัวเองอยู่บนจุดสูงสุดเพื่อความอยู่รอด แต่หากว่าวันหนึ่งมีสิ่งมีชีวิตบางอย่างที่ดำรงชีพได้ด้วยการกินมนุษย์เพียงอย่างเดียวมันก็คงพิลึก ที่จุดบนสุดของห่วงโซ่อาหารกำลังถูกท้าทายด้วยการลดอันดับลงมา

      เคน คาเนกิ (เด็กหนุ่มที่มานั่งแอบเหล่สาวสวยอย่าง ริเสะ (ทุกวันที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง จนในที่สุดก็มีโอกาสได้คุยและนัดเดตกันเป็นครั้งแรก แต่ คาเนกิ ต้องสตั๊นไป 10 วิ เมื่อสาวสวยคู่เดตของเขาจริงๆแล้วคือ กูล สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตได้ด้วยการกินเนื้อมนุษย์เท่านั้น  เหตุผลในการออกเดตครั้งนี้ของ ริเสะ ก็คือการเปลี่ยน คาเนกิ จากคู่เดตให้เป็นอาหารรองท้องของเธอนั่นเอง แต่ คาเนกิ ก็โชคดีเอาตัวรอดมาได้ แต่มันก็แลกด้วยการที่เขาต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจากกูลอย่าง ริเสะ ด้วย นั่นก็เลยทำให้ คาเนกิ กลายเป็นครึ่งคนครึ่งกูล ที่ต้องหาคำตอบให้กับตัวเองว่าจะเอายังไงต่อไปเมื่อความหิวมาเยือน
      เป็นงานที่มีความจิกกัดความเป็นมนุษย์ แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ว่าโยนคำถามใส่หน้าเราอะไรขนาดนั้น แต่เหมือนเป็นการกระซิบถามเบาๆให้เราได้ยินซะมากกว่า

      ฉากแอคชั่นของหนังจริงแล้วก็ไม่ถือว่าเยอะเลยนะ อาจจะมีมาเรื่อยๆแต่ก็ไม่ถือว่าเป็นฉากใหญ่อะไร ขนาดฉากแอคชั่นช่วงท้ายไคลแม็กซ์ของเรื่อง  ก็ยังไม่มีความรู้สึกว่าหนังจัดเต็มอะไรมากมาย  เวลาเห็นกูลกลายร่างมีพาลนึกถึงปีศาจจิ้งจอกเก้าหางผสมปรสิตเดรัจฉานเหมือนกัน แต่มองที่ภาพรวมของหนังก็ยังถือว่าโอเคนะ ตอบโจทย์ความบันเทิงได้แล้วยังมีประเด็นต่อยอดให้มาขบคิดต่อ

      เมื่อมนุษย์คิดว่าตัวเองอยู่จุดบนสุดของห่วงโซ่อาหารและเป็นคนกำหนดจริยธรรมตามแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ที่มนุษย์สามารถล่า ทำลาย หรือคร่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อเป็นอาหารหรือความสนุก แต่เมื่อมนุษย์กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร กลับกลายเป็นว่าการกระทำของ กูล ถูกมองเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างไม่น่าให้อภัยได้ ทั้งที่สิ่งที่ กูล ทำก็ไม่ต่างจากสิ่งที่มนุษย์ทำกับสัตว์เช่นเดียวกัน

      หนังเองยังสร้างข้อจำกัดให้ กูล ด้วยซ้ำเมื่ออาหารที่กินได้เพียงอย่างเดียวก็คือมนุษย์ ต่างจากมนุษย์เองอย่างเราๆที่สามารถกินอะไรได้ตั้งหลายอย่าง แต่ก็ยังเลือกที่จะฆ่าสิ่งมีชีวิตอื่นอีกอยู่ดี มันเลยกลายเป็นว่าความหมายของคำว่า “ดี” จากประเด็นที่หนังตั้งขึ้นมามันถูกมองจากมุมที่แตกต่างกันระหว่างมนุษย์กับกูล

      สำหรับมนุษย์กับกูลแท้ๆแล้วตัดประเด็นไปได้ชัดเจนเลยว่ายืนอยู่คนละฝั่งแน่นอน แต่กับ คาเนกิ ที่ตัวเองก็เคยเป็นมนุษย์มาก่อนยังมีเพื่อนมีคนที่รักเป็นมนุษย์อยู่ ก็ยังพยายามข่มใจไม่กินตามความต้องการของร่างกาย แต่เมื่อตัวเองก็กลายเป็นกูลแล้วยังไงก็ไม่สามารถยืนข้างมนุษย์ได้อยู่ดี สุดท้ายเรื่องราวมันก็บีบบังคับให้ต้องเลือกข้าง

      แต่เอาเข้าจริงๆมนุษย์หรือกูลก็ไม่แตกต่างกัน เพราะในสายตาของ หมู ไก่ ปลา หรือสัตว์อื่นๆที่มนุษย์เรากินเป็นอาหาร จากมุมมองของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็คงเห็นมนุษย์อย่างเราๆเลวร้ายไม่แตกต่างจากกูลเลยสักนิด

      สุดท้ายแล้วคำว่าคุณธรรมมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองจากทางฝั่งไหน เพราะไม่ว่าจะมนุษย์หรือกูลก็ต่างมีเหตุผลในการฆ่าไม่ต่างกัน ซึ่งก็คือการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ตัวเอง เพียงแต่ว่าจุดที่เรายืนอยู่เราอยู่ฝั่งไหนเท่านั้นเอง

#MovieReview #รีวิวหนัง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Review: Forever and Ever (2021)

Forever and Ever (2021) ทุกชาติภพ กระดูกงดงาม ภาคปัจจุบัน #Romance   #Drama  Director: Shen Yang, Ben Fang/ Screenwriter: Mo Bao Fei Bao    ...